วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บริการยืม-คืน หรือ จ่าย-รับ (Circulation Service)


กระบวนวิชา  009355  บริการห้องสมุดและบริการสารสนเทศ  

สรุปเรื่อง  บริการยืม-คืน (Circulation Service)

ประจำวันที่  17  มิถุนายน  พ.ศ. 2554
_______________________________

บริการพื้นฐานของห้องสมุด

บริการยืม-คืน
-------------------


          บริการยืม-คืนจัดเป็นบริการแรกสุดที่ห้องสมุดทุกแห่งจำเป็นต้องมีขึ้น  เนื่องจาก  เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีอยู่ในห้องสมุดให้แก่คนทั่วๆไป  และช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน  เป็นการให้บริการยืม-คืนทรัพยากรสารสนเทศที่มีอยู่ภายในห้องสมุด  แต่บริการยืม-คืน  ก็มีข้อจำกัดในการให้บริการ  คือ  จะมีทรัพยากรสารสนเทศบางอย่างที่ห้องสมุดไม่สามารถให้ยืมได้  ซึ่งก็คือ  หนังสืออ้างอิง  วารสาร  หนังสือพิมพ์  และอื่นๆ  ที่ห้องสมุดเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะงดให้บริการยืม-คืน  เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการทุกคน  อย่างเช่น  หนังสืออ้างอิง  เป็นหนังสือที่ให้ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมถึงความรู้  จึงไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อหาภายในหนังสือทั้งเล่ม  ใช้เนื้อหาเพียงบางส่วนเท่านั้น  เพราะหนังสืออ้างอิงให้เพียงข้อเท็จจริงสั้นๆ  หากให้ผู้ใช้สามารยืมได้จะก่อให้เกิดปัญหาทำให้ผู้อื่นที่ต้องการใช้ไม่สามารถใช้หนังสืออ้างอิงได้  เนื่องจาก  หนังสืออ้างอิงมีจำกัด  จึงทำให้ห้องสมุดทุกแห่งเห็นตรงกันว่า  ให้ใช้ได้ภายในห้องสมุดเท่านั้น  หากจำเป็นจะต้องใช้ต่อ  ทางห้องสมุดก็จะมีการจัดบริการถ่ายเอกสารให้แก่ผู้ที่ต้องการใช้หนังสืออ้างอิงนั้นๆ เป็นต้น

   

เป้าหมายหลักในการให้บริการ  คือ
  • การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้
  • สามารถนนำไปศึกษาค้นคว้านอกสถาบันได้
บทบาทหน้าที่ของบริการยืม-คืน
  1. การควบคุมงานบริการยืม-คืน
    บริการยืม-คืนนับเป็นบริการพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในห้องสมุดสมัยใหม่  เนื่องมาจาก  นโยบายของห้องสมุดรวมทั้งการให้บริการของสถาบันสารสนเทศต่างๆ  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้  ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน  อำนวยความสะดวกในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้  ให้ผู้ใช้ได้รับสารสนเทศได้ตรงตามที่ต้องการ  ทันต่อการใช้งาน  นับว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้ให้เกิดความพึงพอใจในการให้บริการ  เน้นความสะดวกรวดเร็ว  ช่วยประหยัดเวลาให้แก่ผู้ใช้ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
  2. ประชาสัมพันธ์ห้องสมุด
    งานบริการยืม-คืนเป็นบริการแรกที่ผู้ใช้มองเห็นเป็นสิ่งแรกเมื่อเข้ามาใช้บริการในห้องสมุด  รวมทั้งมีการเข้ามาติดต่อมากที่สุดในงานห้องสมุด  การบริการยืม-คืนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  บรรณารักษ์จึงต้องมีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่มาใช้บริการ  อย่างเช่น  ให้บริการข้อมูลพื้นฐานของห้องสมุด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีให้แก่ผู้ใช้บริการ  ไม่ว่าจะเป็นบริการแนะนำการใช้งานห้องสมุด  การแนะนำทรัพยากรสารสนเทศใหม่ๆ ที่มีการจัดบริการไว้ในห้องสมุด  เพื่อให้ผู้ใช้ทราบถึงการเตรียมพร้อมในการให้บริการของห้องสมุด  ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีต่อห้องสมุด  ช่วยทำให้เกิดความประทับใจจากการให้ความช่วยเหลือในการให้บริการ  อีกทั้งยังมีผลต่อทัศนคติของผู้ที่มาใช้บริการ  ซึ่งการให้บริการถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินคุณภาพในการให้บริการของห้องสมุด
งานบริการ



  1. ห้องสมุดขนาดเล็ก (The small libraries) 
    บรรณารักษ์มีหน้าที่ในการดูแลจัดการห้องสมุดด้วยตนเอง  จะต้องเป็นคนจัดการงานต่างๆที่มีอยู่ในห้องสมุดทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายห้องสมุด  การกำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน  กฎระเบียบต่างๆ ที่จะให้ผู้ใช้ปฏิบัติตามเพื่อความสะดวกเรียบร้อยของห้องสมุด  การแนะนำงานภายในขอบข่ายงานของห้องสมุดให้ผู้ร่วมงานทุกคนทราบถึงหน้าที่ของตนที่มีต่อห้องสมุด  เพื่อให้เกิดการจัดการงานอย่างมีระบบ  เกิดความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ไม่เพียงแต่บรรณารักษ์ยืม-คืนจะต้องตอบคำถามหรือข้อสงสัยให้แก่ผู้ใช้บริการ  เจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายในห้องสมุดก็จะต้องสามารถตอบคำถามง่ายๆ แทนบรรณารักษ์ได้อีกด้วย
  2. ห้องสมุดขนาดกลาง (The Larger Libraries) 
    เป็นห้องสมุดที่มีจำนวนบรรณารักษ์เพิ่มมากขึ้นกว่าห้องสมุดขนาดเล็ก  จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสรรบรรณารักษ์ในการทำงาน  โดยมีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานในแต่ส่วนของห้องสมุด  จึงต้องมีการตั้งหัวหน้าบรรณารักษ์ขึ้นมา  เพื่อช่วยดูแลจัดการการทำงานของบรรณารักษ์ในห้องสมุด  ควบคุมให้บรรณารักษ์แต่ละคนมีการทำงานอย่างเป็นระบบและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง  อีกทั้ง  ผู้ช่วยบรรณารักษ์  รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ห้องสมุด  จำเป็นต้องมีการทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  เพราะมีการทำงานร่วมกันหลายคน  อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานได้  หากขาดการติดต่อสื่อสารกัน  เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในการให้บริการแก่ผู้ใช้  หากมีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว  จะก่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถให้ความช่วยเหลือแทนกันได้หากเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นมา  นับว่าเป็นการลดความเสี่ยงในข้อผิดพลาดของห้องสมุดให้ลดน้อยลงไปได้  ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการของห้องสมุดและจะกลับมาใช้บริการอีกในภายหลัง
  3. ห้องสมุดขนาดใหญ่ (The very large libraries)
    ห้องสมุดขนาดใหญ่ย่อมมีการทำงานซับซ้อนมากขึ้น  จำเป็นที่จะต้องการจัดตั้งหัวหน้าแผนกในแต่ละหน่วยงานขึ้นมา  เพื่อช่วยดูแลจัดการงานในห้องสมุดแต่ละแผนกให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ ในการทำงานย่อมต้องมีการแบ่งหน้าที่หรือแบ่งงานให้แต่ละแผนกรับผิดชอบ  จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้แต่ละแผนกเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการทำงานร่วมกัน  เพื่อป้องกันปัญญาเรื่องคนในการทำงาน  ก็จะช่วยทำให้ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นภายในห้องสมุด  เนื่องจาก  มีการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก  ย่อมก่อให้เกิดปัญหาได้ง่าย  เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาย่อมส่งผลกระทบต่อห้องสมุดเป็นอย่างมาก  จึงต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในการทำงานของทุกหน่วยงาน
ความรู้และทักษะที่ต้องการของบรรณารักษ์ยืม-คืน




  • มีใจรักในงานบริการและมีความอดทนสูง
    ในการทำงานย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับผู้ใช้บริการได้  เนื่องจาก  งานของบรรณารักษ์ยืม-คืนจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  อาจจะต้องประสบกับปัญหาในการให้บริการไม่ถูกใจแก่ผู้ใช้บริการ  หรือผู้ใช้บริการร้องขอให้ช่วยเหลือเกินกว่าที่ตนจะทำได้  และเมื่อตนไม่สามารถทำให้ผู้ใช้บริการพึงพอใจได้  ผู้ใช้บริการก็อาจจะมีการต่อว่าตนนั้นได้  ย่อมต้องอาศัยความอดทนต่อการพูดคุยกับผู้ที่มาใช้บริการ  และต้องมีความเข้าใจว่าเราไม่สามารถบริการได้ตรงใจให้แก่ผู้ใช้บริการได้ทุกคน  ก็ต้องรู้จักควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งต่อผู้ใช้บริการ  อีกทั้งยังทำงานเกี่ยวกับด้านการบริการ  ก็ต้องให้ความสำคัญต่อผู้ใช้บริการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการไม่พอใจจนนำไปบอกต่อ  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห้องสมุดเป็นอย่างมาก
  • มีความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรที่มีไว้ให้บริการ
    บรรณารักษ์ยืม-คืนย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงต่อทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุด  จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายหรือแนะนำเกี่ยวกับทรัพยากรสารสนเทศที่มีบริการในห้องสมุดได้เป็นอย่างดี  เพื่อเป็นการสร้างเสริมความเข้าใจให้แก่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศได้ตรงกับความต้องการได้มากยิ่งขึ้น  ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ผู้ใช้ได้  และยังช่วยทำให้ผู้ใช้เลือกที่จะมาใช้บริการที่ห้องสมุดมากขึ้น
  • มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์  ฐานข้อมูล OPAC
    สืบเนื่องมาจากยุคสมัยนี้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานของห้องสมุดมากขึ้น  เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการแก่ผู้ใช้  เพื่อประหยัดเวลาให้แก่ผู้ใช้ในการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศที่มีอยู่ในห้องสมุด  และยังสามารถให้บริการได้เป็นจำนวนมาก  โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคน  บรรณารักษ์จึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับทักษะในการใช้งานคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี  เพื่อสามารถให้คำแนะนำหรือช่วยอธิบายการใช้งานให้แก่ผู้ใช้  เนื่องจาก  ผู้ใช้บางคนอาจจะไม่มีความชำนาญในการใช้งานคอมพิวเตอร์  บรรณารักษ์จึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการสืบค้นฐานข้อมูล OPAC  เพื่อให้การยืม-คืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และผู้ที่มาใช้งานห้องสมุดสามารถใช้งานบริการการสืบค้นฐานข้อมูล OPAC  ย่อมเป็นการช่วยประหยัดเวลาให้แก่บรรณารักษ์ได้อีกด้วย
  • มีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
    การทำงานของบรรณารักษ์ย่อมจะต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโดยตรง  จึงจะต้องรู้จักที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้อย่างชาญฉลาด  โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความรู้ของผู้ที่มาใช้บริการให้เกิดความรู้สึกไม่ดี  บรรณารักษ์จึงต้องมีความระมัดระวังในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ที่มาใช้บริการ  จึงต้องแก้ปัญหาอย่างรอบคอบและมีเหตุผล  เพราะหากบรรณารักษ์แก้ปัญหาผิดพลาดย่อมมีผลต่อห้องสมุดตามไปด้วย  
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
    เนื่องจากผู้ที่เข้ามาใช้บริการจะพบเห็นบริการยืม-คืนเป็นสิ่งแรก  บรรณารักษ์ยืม-คืน  จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเชื้อเชิญให้ผู้ที่มาใช้บริการเข้ามาใช้บริการภายในห้องสมุดด้วยความเต็มใจ  ย่อมเป็นการสร้างความประทับใจแรกเริ่มในการเข้ามาใช้งานบริการของห้องสมุด  สร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้งานในทันทีเมื่อเดินเข้ามาในห้องสมุด  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่มาใช้บริการเกิดทัศนคติที่ดีต่อห้องสมุด  ย่อมก่อให้เกิดความพึงพอใจและส่งผลให้ผู้ใช้บริการกลับมาใช้บริการอีกในภายหลัง  นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกมีความเป็นกันเองกับบรรณารักษ์  ย่อมที่จะกล้าเข้าไปพูดคุยกับบรรณารักษ์มากขึ้น  และบรรณารักษ์ก็ต้องมีการระมัดระวังในการใช้คำพูดด้วยเช่นกัน  ควรมีการใช้คำพูดที่สุภาพไพเราะ  เพื่อทำให้ผู้ฟังแล้วเกิดความสบายใจและเกิดความไว้ใจในตัวบรรณารักษ์  จึงเห็นได้ว่าบุคลิกภาพของบรรณารักษ์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก  ผู้ใช้บริการจะมาใช้บริการอีกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบรรณารักษ์เป็นสำคัญ  และบรรณารักษ์เองก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่นในการให้บริการ  เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย 
งานที่เกี่ยวข้องกับบริการยืม-คืน  มีดังต่อไปนี้



  1. การยืมและการคืน
    1.1)บริการยืมคืนทรัพยากรห้องสมุดประเภทต่างๆ  ได้แก่  หนังสือ  หนังสือสำรอง  วารสาร   วิทยานิพนธ์  รายงานการวิจัย  สิ่งพิมพ์บริจาค  สิ่งพิมพ์เบ็ดเตล็ด  ซีดีรอม
    1.2)กำหนดระยะเวลาในการยืม-คืนทรัพยากรสารสนเทศตามนโยบายสถาบัน  โดยทั่วไปหากมีทรัพยากรน้อย  อัตราการยืมสูง  ช่วงเวลาการให้ยืมจะมีระยะเวลาสั้นลง  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรอย่างทั่วถึง
    1.3)บริการจับจองสิ่งพิมพ์ที่มีผู้ยืมออก  ให้บริการต่ออายุการยืมอัตโนมัติ
    1.4)บริการหนังสือสำรอง
    1.5)บริการตรวจสอบหนังสือ  เมื่อผู้ใช้หาตัวเล่มจากชั้นไม่พบ
    1.6)ปรับสิ่งพิมพ์เกินกำหนดส่งหรือได้รับความเสียหาย  โดยการกำหนดอัตราการปรับและการออกใบเสร็จรับเงิน
    1.7)บริการตอบคำถามชี้แนะสารนิเทศแก่ผู้ใช้ภายในห้องสมุดและผู้ติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์
    1.8)บริการยืมระหว่างห้องสมุด (ภายใน) การจัดส่งเอกสาร
    1.9)บริการล็อคเกอร์รับฝากสิ่งของ ตรวจกระเป๋า และสิ่งของที่ผู้ใช้บริการนำติดตัวก่อนออกจากห้องสมุด
  2. การจัดเก็บทะเบียนผู้ใช้  มีการจัดทำขึ้นเพื่อ
    2.1)เพื่อจำแนกว่าใครมีสิทธิ์ยืมทรัพยากรหรือมีสิทธิ์ใช้บริการของสถาบันบริการสารสนเทศ
    2.2)ข้อมูลส่วนบุคคล  ได้แก่  ชื่อ  ที่อยู่  หมายเลขโทรศัพท์  เพื่อสะดวกในการติดต่อกับผู้ใช้  เช่น การแจ้งให้มารับรายงานรายการที่จองไว้ การทวงรายการที่ค้างส่ง  เป็นต้น
    2.3)สถาบันสารสนเทศจำเป้นต้องทราบกลุ่มเป้าหมาย  และลักษณะกลุ่มเป้าหมายที่จะให้บริการ
  3. ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
    - The Integrated Library System (ILS)
    - The Automated Library System
    - The Library Automation System
    -  Library Automation
    ระบบห้องสมุดอัตโนมัติมาจาก...
    = พัฒนาขึ้นเอง (In-house Developed System)
    = ยืมและนำมาดัดแปลงเพื่อความเหมาะสมกับห้องสมุดของหน่วยงานนั้น (Adapted System)
    = ซื้อโปรแกรมสำเร็จรูป (Tumkey System)
    = ใช้งานร่วมกับผู้อื่น (Share-System)
  4. เทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้ในบริการยืม-คืน  โดยการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในการดำเนินงานบริการยืม-คืนภายในห้องสมุด  ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว  ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของระบบงานห้องสมุด
    โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานบริการยืม-คืน  ดังต่อไปนี้


    4.1) เทคโนโลยีรหัสแถบ (Barcode)
    - นำมาใช้ในงานการลงทะเบียนยืม-คืนของผู้ใช้
    - ช่วยป้องกันความผิดพลาดในการพิมพ์รหัสข้อมูล
    - เก็บข้อมูลได้ไม่มาก
    - ทำการปรับข้อมูลใหม่ไม่ได้


    4.2)รหัสบาร์โค้ดแบบสองมิติ (QR Code , 2D Barcode)
    -เป็นการพัฒนามาจากเทคโนโลยีรหัสแถบ
    -สามารถบรรจุได้ทั้งสองแนว คือ แนวนอนและแนวตั้ง
    -ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการผลิต  เนื่องจากสามารถผลิตได้จากระบบการทำรายการห้องสมุด
    -สามารถจัดเก็บข้อมูลทางบรรณานุกรมของหนังสือ รวมถึงใช้ในการบริการยืม-คืนหนังสือ


    4.3) เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (Radio Frequency Identification)
    -เป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุ  เพื่อระบุลักษณะเฉพาะของวัตถุแต่ละชิ้น  ทำให้ทราบถึงประวัติของวัตถุนั้นๆ
    -สามารถใช้ในการติดตามและตรวจสอบวัตถุนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น  ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล  การนำส่งและงานอื่นๆ เช่น การสำรวจทรัพยากรของห้องสมุด การจัดเก็บหนังสือ  เป็นต้น
    -มีการนำมาใช้งานแทนระบบรหัสแถบ
    -สามารถอ่านและบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากตัวเลขและเพิ่มเติมข้อมูลได้ในภายหลัง
การใช้บริการยืม-คืนตู้ยืม-คืนอัตโนมัติของผู้ใช้



      ไม่มีความคิดเห็น:

      แสดงความคิดเห็น