วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

Web 2.0 & Lib 2.0

กระบวนวิชา  009355 บริการห้องสมุดและบริการสารสนเทศ

ประจำวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2554

สรุปเรื่อง Web 2.0 & Lib 2.0

_________________________________________________

Web 2.0 & Lib 2.0

  • ที่มาของแนวคิดห้องสมุด 2.0
    - พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยนและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
    - กฎของพาเรโต (Pareto Principle)
    - เศรษฐศาสตร์หางแถวหรือหางยาว (The Long Tail)
    - เทคโนโลยี Web 2.0
    - Lib 2.0
  • พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยนและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
    ผู้ใช้ห้องสมุดในปัจจุบันหันไปเลือกใช้ห้องสมุดที่เป็นดิจิทัลเป็นจำนวนมากขึ้น เนื่องจาก ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หรืออาจกล่าวได้ว่าเข้าถึงได้ทุกที่และทุกเวลา (Anytime & Anywhere)
  • กฎของพาเรโต (Pareto Principle : 80/20 Rule)
    วิลเฟรโต พาเรโต (Vilfredo Pareto) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้คิดค้นกฎ 80/20 ขึ้นมา ซึ่งเป็นกฎที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลานาน เนื่องจากสามารถอธิบายเหตุผลได้ในทุกๆ เรื่องและทุกแขนงวิชา มีการนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ กล่าวคือ รายได้ขององค์กร 80% ซึ่งเป็นรายได้ส่วนใหญ่ล้วนมาจากลูกค้าชั้นดี 20% เท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่ายอดขาย 80% ของบริษัทมาจากสินค้าเพียง 20% หรือรายได้ 80% ขององค์กรได้มาจากพนักงานเพียง 20% ซึ่งทำให้เห็นได้ว่ากฎ 80/20 ช่วยทำให้เห็นถึงสาระสำคัญและการเอาใจใส่ลูกค้ากลุ่มพิเศษที่มีเพียง 20% เท่านั้น ที่ช่วยสร้างรายได้ส่วนใหญ่ให้กับองค์กร เนื่องมาจากทรัพยากรขององค์กรมีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถเอาใจใส่ลูกค้าทั้งหมดในเวลาเดียวกันได้ ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องละเลยลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่มีถึง 80% ทำให้เกิดการเปิดช่องว่างทางธุุรกิจเกิดมุมมองของการทำตลาดเฉพาะส่วน (Niche Market) มากขึ้น
    ***แต่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีการผลิตคราวละเป็นจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของมวลชน จึงเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี มีผลทำให้ Chris Anderson มีมุมมองที่แตกต่างไปจากพาเรโต เกิดเป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์หรือทฤษฏีหางแถวขึ้นมา***
  • เศรษฐศาสตร์หรือทฤษฎีหางแถว (The Long Tail)
    Chris Anderson เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีหางแถวขึ้นมา และได้นำเสนอเป็นบทความผ่าน Wired Magazine และแนวคิดนี้ได้รับความนิยมมากในปี ค.ศ.2004 นักธุรกิจต่างก็ให้การยอมรับมาก เนื่องจาก แนวคิดนี้ช่วยทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจเป็นจำนวนมากที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มลูกค้า 80%  ที่องค์กรทางธุรกิจเคยละเลยไป และเห็นได้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้กลับมีความสำคัญเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้มากกว่ากลุ่มลูกค้าชั้นดีเพียง 20% ด้วยซ้ำ ตัวอย่างของทฤษฎี Long Tail ในธุรกิจ ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างของธุรกิจขายหนังสือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของ Amazon ซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับร้านขายหนังสือโดยทั่วไป เนื่องมาจาก ร้านทั่วไปมีพื้นที่อยู่อย่างจำกัดในการขายหนังสือ จึงจำเป็นต้องนำแนวคิด  80/20 ของพาเรโตมาใช้ในการจัดการเชิงธุรกิจ เพื่อเลือกหนังสือเข้ามายังภายในร้าน เพื่อสนองตอบความต้องการของกลุ่มลูกค้าประจำ ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับธุรกิจขายหนังสือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของ Amazon มีรูปแบบที่แตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจาก พื้นที่ในการจัดเก็บหนังสือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมีอยู่อย่างไม่จำกัด และใช้ต้นทุนน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขายหนังสือที่ลูกค้าจำนวนน้อยให้ความสนใจของธุรกิจขายหนังสือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของ Amazon กลับพบว่าหากนำมารวมกันแล้วมีมูลค่ามากกว่าหนังสือขายดีที่ลูกค้าทั่วไปสนใจ และที่สำคัญยังมีการเพิ่มความหลากหลายของหนังสือได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แม้ว่าจะมีหนังสือเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีการจำหน่ายออกไปยังลูกค้า ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผลกำไรของบริษัท เนื่องมาจาก ในการทำธุรกิจใช้การลงทุนที่ต่ำมาก และไม่จำเป็นต้องบริหารจัดการเกี่ยวกับคลังสินค้า ก็ย่อมไม่มีส่วนสำคัญต่อผลกำไรของบริษัท
    ***สำหรับในธุรกิจ e-Commerce ก็เริ่มมีการนำแนวคิดของทฤษฎีหางยาว (The Long Tail) มาเป็นรูปแบบในการดำเนินการทางธุรกิจ เช่น การดาวน์โหลดเพลงหรือรูปภาพ เป็นต้น โดยที่ธุรกิจนั้นจะต้องมีสินค้าที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก และจำนวนลูกค้าก็ต้องมีเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพราะ แนวคิดนี้ไม่มุ่งที่การทำการตลาดเฉพาะส่วนเหมือนกับกฎ 80/20 ของพาเรโต
    ***แนวคิด The Long Tail จึงช่วยทำให้เห็นถึงความสำคัญของลูกค้ามากขึ้น เกิดการเอาใจใส่ในลูกค้าที่หลากหลาย ส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างเกินความคาดหมาย อีกทั้งเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายบุคคลได้มากขึ้น 
    ***ดังนั้นแนวคิด The Long Tail จึงเป็นแนวคิดทางการตลาดแนวใหม่ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการหันมามุ่งเน้นพัฒนากลยุทธ์สำหรับสินค้าเป็นจำนวนมากที่เป็นที่ต้องการน้อยในกลุ่มผู้บริโภคสำหรับการสร้างโอกาสเพิ่มจำนวนยอดขายให้กับธุรกิจทุกอย่างได้อย่างยั่งยืน
  • กฎ 3 ประการของทฤษฎี The Long Tail
    กฎข้อที่ 1 Make everything available
    กฎข้อที่ 2 Cut the price in half. Now lower it
    กฎข้อที่ 3 Help me find it
  • กราฟของทฤษฎี The Long Tail
    longtail.jpg

    สามารถอธิบายความหมายของกราฟทฤษฎี The Long Tail ได้ดังนี้
    แกนตั้ง คือ ยอดการขาย และแกนนอนคือ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ส่วนที่เป็นสีแดงของกราฟ คือ Hits หรือสินค้ายอดนิยมและเป็นที่ต้องการของคนกลุ่มใหญ่ (Best-Selling Products) และส่วนที่เป็นสีเหลือง คือ Nonhit หรือ Niches ซึ่งเป็นสินค้าที่คนกลุ่มน้อยต้องการและหาซื้อได้ยาก เนื่องจาก มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ชั้นวางแสดงสินค้า (Low-Demand Products)
    ทฤษฎี The Long Tail แสดงให้เห็นได้ว่า แนวโน้มของการตลาดเริ่มย้ายจาก Hits สีแดง มาเป็น Niches สีเหลือง ซึ่งขยายยาวไปทางขวาเรื่อยๆ เนื่องมาจาก เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุุบัน ช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็น Niches ได้ง่ายขึ้น หลังจากหันมาทำการซื้อขายบนอินเตอร์เน็ตแทน มีการย้ายจาก Physical มาเป็น Digital
  • ทฤษฎี The Long Tail ในงานบริการของห้องสมุด
    การให้บริการของห้องสมุดในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ จะพบว่า 20% ของหนังสือในห้องสมุดถูกยืมออกหรือหยิบใช้โดยผู้ใช้ อีก 80% ต้องอาศัยพื้นที่ในการจัดเก็บและมีผู้ใช้เลือกใช้น้อย ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี Library Long Tail ดังนั้น ห้องสมุดจึงควรทำการพัฒนาระบบการค้นหาด้วย OPAC หรือ Meta Search Tools ต่างๆ เพื่อทำให้หนังสืออีก 80% ที่ไม่มีผู้ใช้หยิบยืมหรือหยิบใช้ ได้รับการใช้งานเพิ่มมากขึ้น

    แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการเขียน
    Logistics Digest
    มหาวิทยาลัยมหิดล
    รุจเลขา วิทยาวุฑฒิกุล
  • Web 1.0 
    web1_2.jpg

    Web 1.0 ยุคแห่งการเริ่มต้น
    Web 1.0 เป็นเว็บที่มีลักษณะของการแสดงเนื้อหาและการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์กับผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Read-Only) ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการโต้ตอบทางเดียว ซึ่งก็คือ เจ้าของเว็บไซต์มีการผลิตเนื้อหาของเว็บไซต์และผู้ต้องการข้อมูลจะเข้าไปอ่านจากเว็บไซต์หรือทำการค้นหาจาก Search Engine ผู้เข้าชมเว็บไซต์ส่วนใหญ่สามารถทำได้เพียงรับข้อมูลจากเนื้อหาของเว็บไซต์แต่ไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นหรือมีการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์กับผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • Web 2.0

    web2_2.jpg

    Web 2.0 ยุคแห่งการพัฒนาและการเชื่อมโยง
    Web 2.0 เป็นเว็บที่มีลักษณะของการแสดงเนื้อหาและการโต้ตอบกันระหว่างเจ้าของเว็บไซต์กับผู้เข้าชม ซึ่งมีลักษณะเป็นการแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว (Read-Write) โดยผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์สามารถแสดงความคิเห็นหรือทำการสร้างเนื้อหาโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือทีมผู้สร้างเนื้อหา อีกทั้งผู้เข้าชมสามารถกำหนดคุณค่าของเว็บไซต์หรือบทความผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การให้คะแนนเนื้อหา การแนะนำบทความให้กับผู้อื่น เป็นต้น สำหรับรูปแบบหรือลักษณะโดทยทั่วไปของ Web 2.0 นั้นมีการพัฒนาให้มีการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้ได้ง่ายขึ้นและมีความหลากหลายในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น เช่น ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาได้รวดเร็วโดยไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิค สามารถเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ของตนเองได้อย่างง่ายดาย สามารถแบ่งปันข้อมูลไปยังเครือข่ายออนไลน์ สามารถแสดงความคิดเห็นและทัศนคติได้อย่างตรงไปตรงมาและเปิดกว้างมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้น Web 2.0 จึงมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการสร้างสังคมที่มีความเกื้อหนุนกันทางความรู้และการรวมกลุ่มของเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ที่เกิดจากการคิดร่วมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ส่วนตัวอย่างลักษณะของ Web 2.0 เช่น วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นสารานุกรมออนไลน์หลายภาษาที่แบ่งปันเนื้อหาได้อย่างเสรี อีกทั้งผู้ใช้สามารถสร้าง แก้ไข และปรับปรุงเนื้อหาร่วมกันได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ส่วน Frickr เป็นแหล่งออนไลน์ที่ใช้ในการฝากและแสดงภาพค่ยดิจิทัล โดยมีการระบุคำจำกัดความของรูปภาพหรือที่เรียกว่า Tag เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดระบบและการค้นหาข้อมูล ส่วน Blog เป็นเว็บไซต์ส่วนตัวสำเร็จรูปที่ช่วยในการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ง่ายขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
  • ระดับของ Web 2.0 สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้
    ระดับ 3 ระดับของการใช้งานจากผู้ใช้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นลักษณะของการสื่อสารของมนุษย์ภายใต้เว็บไซต์เดียวกัน เช่น Wikipedia Skype eBay Craigslist
    ระดับ 2 ระดับการจัดการทั่วไปที่สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อนำมาใช้งานออนไลน์นั้น จะมีประโยชน์มากขึ้นจากการเชื่อมโยงผู้ใช้งานเข้าด้วยกัน เช่น Frickr เว็บไซต์อับโหลดภาพที่มีการใช้งานเชื่อมโยงระหว่างภาพ เช่นเดียวกันระหว่างผู้ใช้งาน
    ระดับ 1 ระดับการจัดการทั่วไปที่สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านอินเตอร์เน็ต แต่มีความสามารถเพิ่มขึ้นและมีการนำมาใช้งานออนไลน์ เช่น Google Docs และ iTunes
    ระดับ 0 ระดับที่สามารถใช้งานได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น MapQuest และ Google Maps

    แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการเขียน

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การตลาดบริการของห้องสมุด

กระบวนวิชา 009355 บริการห้องสมุดและบริการสารสนเทศ

ประจำวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2554

สรุปเรื่อง การตลาดบริการของห้องสมุด
_______________________________________________

การตลาดบริการของห้องสมุด

  • ความหมายของการตลาด (Marketing)
    การตลาด (Marketing) หมายถึง กระบวนการวางแผนและการปฏิบัติตามแนวคิดที่เกี่ยวกับการกำหนดราคา การส่งเสริมการตลาด และการจัดจำหน่ายความคิด สินค้าและบริการ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสุข ความพึงพอใจ รวมทั้งยังเป็นการทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่มีความจำเป็นและความต้องการ (Needs and Wants) ในผลิตภัณฑ์ มีความเต็มใจ มีความสามารถในการแลกเปลี่ยน และมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ เพื่อให้ได้รับความพึงพอใจของตน
  • คำจำกัดความที่สำคัญทางการตลาด
    (1)ความจำเป็น (Physical Needs) หมายถึง สิ่งที่ผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องบริโภคสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ สามารถแบ่งออกเป็น
    (1.1)ความจำเป็นของร่างกาย (Physical Needs) ได้แก่ ปัจจัย 4 ---> อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ยารักษาโรค
    (1.2)ความจำเป็นของสภาพทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Needs) ได้แก่ การมีเพื่อน การมีความรู้สึกอบอุ่นและมั่นคง ความรู้สึกปลอดภัย
    (1.3)ความต้องการส่วนบุคคล (Individual Needs) ความต้องการส่วนบุคคลจะมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ความต้องการศึกษาหาความรู้ การแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง
    (2)ความต้องการ (Wants) หมายถึง ความปรารถนาเพิ่มเติม นอกเหนือจากความจำเป็น เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างมีความสุขเพราะเกิดจากความพึงพอใจตามความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ซึ่งความต้องการของคนแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สังคม และบุคลิกภาพส่วนบุคคล
    (3)ความต้องการซื้อ (Demands) เป็นความต้องการในรูปของอำนาจในการซื้อ เนื่องจาก มนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด แต่มีเงินจำกัด เพราะฉะนั้นจึงต้องเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและความสามารถตอบสนองหรือสร้างความพึงพอใจสูงสุด

    แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการเขียน
    Management Tips
  • ความหมายของการจัดการตลาด
    การจัดการด้านการตลาด หมายถึง กระบวนการวางแผนและปฏิบัติโดยอาศัยแนวคิด การกำหนดราคา การส่งเสริมการตลาด การจัดจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่สามารถสนองความต้องการของบุคคล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ดังนั้น การจัดการตลาดจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเลือกตลาดเป้าหมาย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลือกใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการหาลูกค้า การรักษาลูกค้า โดยการสร้างสรรค์ ส่งมอบ และสื่อสารให้เห็นคุณค่าของสินค้าและบริการที่ลูกค้าได้รับ 
  • ความหมายของจุดมุ่งหมายของการตลาด
    จุดมุ่งหมายของการตลาด หมายถึง การรู้จักและเข้าใจลูกค้าเป็นอย่างดี เพื่อจัดสินค้าและบริการที่เหมาะสม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับลูกค้าที่มีความพร้อมในการซื้อ ดังนั้นสินค้าและบริการจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา
  • ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของนักการตลาด
    (1)สินค้าที่จับต้องได้
    (2)การบริการ
    (3)ประสบการณ์
    (4)เหตุการณ์
    (5)บุคคล
    (6)สถานที่
    (7)ทรัพย์สิน
    (8)องค์กร
    (9)ข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศ
    (10)ความคิดสร้างสรรค์
  • ความหมายของแผนการตลาด (Marketing Plan)
    แผนการตลาด หมายถึง การกำนหดทิศทางและแนวทางในการทุ่มเทความพยายามทางการตลาด ตลอดจนกลไกในการตรวจสอบและประเมินผลกิจกรรมทางการตลาดไว้ล่วงหน้าโดยใช้ประโยชน์จากความเข้าใจที่ได้รับจากการวิเคราะห์สถานการณ์มาพิจารณาร่วมกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนดไว้
  • บทบาทและความสำคัญของแผนการตลาด
    (1)เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายของกิจการ
    (2)ป้องกันการสูญเสียเวลา ค่าใช้จ่าย ตลอดจนโอกาสในการทำยอดขาย และกำไรแก่กิจการ
    (3)ป้องกันการหลงทางตามสถานการณ์และคู่แข่งขัน
    (4)เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงาน และเป็นแนวทางในการกำกับการดูแลการทำงานสำหรับผู้บริหารการตลาด
    (5)สามารถสร้างโอกาสความสำเร็จได้มากกว่าการไม่วางแผน
  • ความสำคัญของแผนการตลาด
    แผนตลาดสำคัญในฐานะที่จะให้รายละเอียดของการเริ่มต้นธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกำหนดแนวทางของความคิดและช่วยประมาณการใช้ทรัพยากรและกำลังความพยายามเพื่อไปสู่เป้าหมาย รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานภายในองค์กรมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน มีแนวทางในการตัดสินใจและดำเนินงาน อีกทั้งยังเป็นพิมพ์เขียวที่ให้รายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กิจกรรมการกำหนดราคาสินค้า กิจกรรมการจัดจำหน่าย หรือ กระจายสินค้า และอื่นๆ ในการบริหารกิจการ และยังใช้เพื่อกหนดการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องในอนาคตของกิจการอีกด้วย และช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ 
  • ลักษณะของแผนการตลาดที่ดี
    (1)เข้าใจง่ายและประเมินวัตถุประสงค์ของแผนได้ชัดเจน
    (2)มีความเป็นไปได้และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
    (3)มีการวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดที่ดี โดยมีข้อมูลที่เชื่อถือได้สนับสนุนอย่างเพียงพอ
    (4)กำกับกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ได้
    (5)ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
    (6)สร้างระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ
    (7)สามารถประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้เลือกสรรแล้ว
  • กระบวนการวางแผนการตลาด ประกอบไปด้วย
    -การพิจารณาพันธกิจขององค์กรว่าคืออะไร
    -วิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อมของธุรกิจและการตลาด
    -พิจารณาถึงเป้าหมายหลักของสินค้าหรือบริการ
    -กำหนดกลยุทธ์การสร้างความแตกต่างของสินค้าหรือบริการ รวมทั้งจุดเด่นในสินค้าหรือบริการของตน
    -พัฒนาโปรแกรมทางการตลาด
  • กิจกรรมทางการตลาด
    (1)การตลาดภายนอก (External Marketing) หมายถึง กิจกรรมที่ทำเพื่อสื่อสารยังลูค้าภายนอกองค์กร เพื่อให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งต้องทำควบคู่กับการตลาดภายใน
    (2)การตลาดภายใน (Internal Marketing) หมายถึง กิจกรรมที่กระตุ้นให้พนักงานมีความพร้อมในการทำงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร
    (3)การตลาดปฏิสัมพันธ์ (Interactive Marketing)
  • การตลาดบริการสารสนเทศธุรกิจ
    ตลาดระบบสารนิเทศ หมายถึง การผสมผสานวิธีการตลาดเชิงสังคมและการตลาดเชิงธุรกิจเข้าด้วยกัน ซึ่งผู้ใช้สารนิเทศได้รับสารนิเทศหรือบริการสารนิเทศตรงตามความต้องการมากขึ้น เกิดความพึงพอใจ เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของสารนิเทศ รวมทั้งมีการใช้สารนิเทศมากขึ้น โดยที่ผู้ให้บริการต้องทำการศึกษาความต้องการของผู้ใช้สารนิเทศและพยายามจัดหาสารนิเทศเพื่อให้บริการผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การตลาดเชิงสังคม
    การตลาดเชิงสังคม หมายถึง ผู้ใช้สารนิเทศแสวงหาสารสนเทศด้วยตนเองเกิดสังคมของความต้องการใช้เกิดขึ้น เกิดการแสวงหาสารสนเทศ จึงทำให้บรรณารักษ์พยายามที่จะนำเสนอสารสนเทศให้ตรงกับความต้องการเพื่อทำให้ผู้ใช้เกิดความพึงพอใจและเลือกที่จะมาใช้บริการในภายหลัง
  • การตลาดเชิงธุรกิจ
    การตลาดเชิงธุรกิจ หมายถึง การให้สารสนเทศที่ต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจาก ระบบธุรกิจไม่สามารถให้เปล่าได้ เพราะ มีการลงทุนสูงเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกสบาย
  • สารนิเทศในรูปฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์
    สื่อในรูปฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ หมายถึง ผลิตภัณฑ์สารนิเทศที่บันทึกในสื่อคอมพิวเตอร์ ได้แก่  ข้อมูลบรรณานุกรมจากดัชนีวารสารและสาระสังเขปสาขาวิชาต่างๆ พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรมและรายงานสถิติ ซึ่งในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ต้องอาศัยเครื่องมือในการเข้าถึงสารนิเทศ
  • องค์ประกอบ 4 ประการของวิธีการตลาด
    (1)ผลิตภัณฑ์ (Product) หมายถึง สินค้าหรือบริการที่ผู้ผลิตจัดทำขึ้น ผลิตภัณฑ์สารนิเทศ ได้แก่ บริการสารนิเทศสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่อในรูปฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการได้นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ในการให้บริการแก่ผู้ที่มาใช้ห้องสมุด
    (2)ราคา (Price) หมายถึง บริการสารนิเทศที่ผู้จำหน่ายกำหนดขึ้น ราคาควรกำหนดอย่างมีเหตุผล เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับว่ามีคุณค่าสมกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และยินดีซื้อหาไปบริโภค
    (3)สถานที่ (Place) ที่ตั้งของสถาบันบริการสารสนเทศ ซึ่งควรอยู่ในทำเลที่ติดต่อสะดวก อาจเป็นย่านชุมชม หรือศูนย์การค้า ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการให้บริการ ดังนั้น สถานที่จึงควรเป็นที่ซึ่งผู้ใช้บริการไปมาสะดวกด้วยตนเอง และยังสามารถติดต่อผ่านช่องทางอื่นๆ ได้หลายช่องทาง
    (4)การส่งเสริมการขาย (Promotion) หมายถึง การคิดวิธีจูงใจให้มีผู้ใช้สารนิเทศมากขึ้น โดยใช้วิธีการเดียวกันกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทั่วไป
  • ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix)ส่วนประสมทางการตลาดเป็นแนวคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งทางการตลาด เพราะ การบริการการตลาดเพื่อสร้างความพอใจให้กับลูกค้า นักการตลาดจะใช้ส่วนประสมทางการตลาดเป้นเครื่องมือหลักสำคัญ ซึ่งจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับตลาดเป้าหมาย (Target Marget) ที่ได้เลือกสรรไว้
  • ความหมายของส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix)
    ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) หมายถึง องค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินงานการตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่องค์กรสามารถควบคุมได้
  • ส่วนประสมทางการตลาดบริการ (7Ps)
    ในการดำเนินงานด้านการบริการให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารแหล่งสารสนเทศควรเรียนรู้เครื่องมือสำคัญ 7 ประการ ของนักการตลาดบริการที่เรียกว่า ส่วนประสมตลาดบริการ (Service Marketing Mix) อันประกอบไปด้วย ดังนี้
    (1)ผลิตภัณฑ์ (Product) หมายถึง ข้อเสนอทั้งหมดที่ผู้ให้บริการมีให้แก่ผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วยสองส่วน คือ ผลิตภัณฑ์หลัก ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการใช้ และผลิตภัณฑ์เสริม ซึ่งเป็นข้อเสนออื่นๆ ที่ผู้ให้บริการมอบให้ผู้ใช้ ดังนั้นผู้บริหารด้านการตลาดของแหล่งสารสนเทศควรทราบความต้องการของผู้ใช้
    (2)ราคา (Price) หมายถึง เครื่องมือด้านการตลาดที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของกิจการบริการ ซึ่งมีผลต่อการรับรู้ของผู้ใช้ในเรื่องคุณค่าและคุณภาพของการบริการ
    (3)สถานที่จัดจำหน่ายบริการ (Place) หมายถึง การจัดจำหน่ายบริการหรือการนำเสนอบริการให้ไปถึงผู้ใช้ ผู้บริหารด้านการตลาดของแหล่งสารสนเทศควรพิจารณาหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ การเข้าถึงบริการได้ ซึ่งหมายถึง ความสะดวกสบายในการรับบริการของผู้ใช้ และความพร้อมที่จะให้บริการในการให้บริการแก่ผู้ใช้ ดังนั้น แหล่งสารสนเทศจึงควรเลือกรูปแบบการนำเสนอบริการที่ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้มากที่สุด ต้องเป็นรูปแบบที่กิจการสามารถให้บริการได้ด้วย
    (4)การส่งเสริมการตลาด (Promotion) หมายถึง บทบาทที่สำคัญ 3 ประการ ในการสื่อสารกับลูกค้า กล่าวได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลแก่ลูกค้า การชักจูงใจให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ของกิจการและการเตือนความทรงจำของลูกค้า
    (5)บุคคล (People) หมายถึง บุคคลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอบริการแก่ผู้ใช้ นับรวมทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ผู้ใช้บริการมักจะมองว่าผู้ให้บริการก็คือบริการนั่นเอง นอกจากนี้ ผู้บริหารด้านการตลาดของแหล่งสารสนเทศจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างจิตสำนึกในการให้บริการ
    (6)กระบวนการ (Process) หมายถึง ขั้นตอน วิธีการ และกิจกรรมต่างๆ ในการนำเสนอบริการ  ผู้บริหารด้านการตลาดของแหล่งสารสนเทศจะต้องพิจารณาหาจุดที่เหมาะสมระหว่างการลดความแตกต่างในกระบวนการให้บริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบริการและการดำเนินงาน และการเพิ่มความซับซ้อนในกระบวนการให้บริการ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า
    (7)หลักฐานทางกายภาพ (Physical Evidence) หมายถึง สิ่งที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ที่สามารถมองเห็นหรือรับรู้ได้ ทำหน้าที่สื่อสารถึงตำแหน่งและคุณภาพการบริการ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดบริการที่มีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมการตอบสนองของบุคคล
  • แผนการตลาดสำหรับห้องสมุด
    (1)บทสรุปผู้บริหาร เป็นการกล่าวถึงที่มาขององค์กรแบบสรุปย่อให้สั้นและกระชับ เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของสมุด ก่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมของห้องสมุด
    (2)พันธกิจ มีพันธะสัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
    (3)การวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม มีการวิเคราะห์และเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา
    (4)การวิเคราะห์ SWOT ประกอบไปด้วย จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคปัญหา
    (5)การวิเคราะห์งาน พิจารณาว่างานภายในห้องสมุดและวัตถุประสงค์มีความสอดคล้องกันหรือไม่ รวมทั้งมีการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมหรือไม่
    (6)วัตถุประสงค์จำเพาะเจาะจงหรือเป็นกรณีพิเศษสำคัญในการพัฒนาห้องสมุด
    (7)ส่วนแบ่งการตลาด เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้มีผู้ใช้มาใช้บริการมากขึ้น ซึ่่งมีการอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาการวิจัยทางการตลาดให้ดีขึ้น
    (8)กลยุทธ์ทางการตลาด เป็นช่องทางในการสื่อสารทางการตลาด
    (9)การวิจัยการตลาด เป็นการสำรวจความต้องการของผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
    (10)ส่วนผสมทางการตลาด
    (11)การประเมิน ต้องดำเนินให้เกิดขึ้นในทุกๆ กิจกรรม เพื่อประเมินภาพภาพรวมของห้องสมุด ซึ่งจะมีผลต่อการปรับปรุงในการทำงานครั้งต่อไป
    (12)ตารางเวลา เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนการตลาดที่ได้กำหนดเอาไว้
    (13)งบประมาณ ต้องมีความสมเหตุสมผลและนำไปใช้ในการปฏิบัติได้จริง
      

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การประชาสัมพันธ์งานของห้องสมุด

กระบวนวิชา 009355 บริการห้องสมุดและบริการสารสนเทศ

เรื่อง การประชาสัมพันธ์งานของห้องสมุด

ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2554

________________________________________________

 การประชาสัมพันธ์ของห้องสมุด


  • ความหมายของการประชาสัมพันธ์ (Public Relations)การประชาสัมพันธ์  หมายถึง การใช้ความพยายามที่ได้วางแผนไว้ เพื่อให้สามารถสร้างและรักษาค่านิยม (Goodwill) เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่างองค์กรกับชุมชม และยังเป็นการจัดการขององค์การเพื่อสร้างสัมพันธภาพอันดีกับผู้รับข่าวสารกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดเห็น (Opinion) ทัศนคติ (Attitude) และค่านิยม (Value) หรือเป็นการติดต่อสื่อสารกับชุมชมทั้งภายในภายนอกเพื่อสร้างภาพพจน์ขององค์กรกับสาธารณชน รวมทั้งความพยายามที่ได้วางแผนอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างและรักษาไว้ซึ่งความปรารถนาดีและความเข้าใจกันระหว่างองค์การและสาธารณชน นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ยังเป็นหน้าที่ในการบริหารเพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ กำหนดปรัชญาและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในองค์การ เนื่องจากนักประชาสัมพันธ์จะต้องสื่อสารกันทั้งในกลุ่มภายในองค์การและภายนอกองค์การเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างเป้าหมายขององค์การและความคาดหวังของสังคม จึงสามารถสรุปได้ว่า การประชาสัมพันธ์เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากหน่วยงานหรือจากผู้บริหารไปยังกลุ่มชนที่เกี่ยวข้องโดยการใช้สื่อต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีของหน่วยงานให้กลุ่มชนเป้าหมายยอมรับต่อไป

    แหล่งที่มาของข้อมูลที่ใช้ในการประกอบการเขียน
    www.ranong2.dusit.ac.th/KM&R/ca19.doc

  • วัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์
    (1)เพื่อสร้างภาพพจน์หรือภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์การ ซึ่่งจะมีผลติดตามมาหลายอย่าง เช่น มีผู้ใช้ห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น หนังสือและสื่อความรู้อื่นๆ มีการหมุนเวียนการใช้มากขึ้น ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากชุมชนและรัฐบาล จะเห็นได้ว่า ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้เกิดความสนใจในกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้นมาเพื่อแนะนำหนังสือ ในกรณีที่หนังสือนั้นไม่มีผู้ใช้ ไม่ต้องการให้หนังสืออยู่บนชั้นโดยไม่ถูกหยิบยืมจากผู้ใช้เลย ซึ่งจะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดหาหนังสือ ดังนั้น ต้องมีการทำการสำรวจหนังสือเที่ไม่มีผู้ใช้เพื่อนำมาจัดกิจกรรมเล่าเรื่องหนังสือ เพื่อเล่าให้ผู้ใช้ในห้องสมุดฟังและรับทราบว่าเนื้อหาภายในหนังสือนั้นมีประโยชน์และมีคุณค่าในการนำไปใช้งาน
    (2)เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดที่ประชาชนมีต่อองค์การ สถาบันเป็นสิ่งที่ไม่พังปรารถนาอย่างยิ่งเพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียหายได้ เช่น ลดปริมาณผู้เข้าใช้ห้องสมุดลง เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์การ จะเห็นได้ว่าการประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันชื่อเสียงไม่ให้เสื่อมเสียหรือเกิดความเข้าใจผิดในองค์การ
    (3)เพื่อกระตุ้นความสนใจ
    (4)เพื่อสร้างความนิยมแก่ชุมชนในละแวกใกล้เคียงให้สามารถเข้ามาใช้ได้
    (5)เพื่อสร้างความนิยมในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในองค์การ
    (6)เพื่อชี้แจงและให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด
    (7)เพื่อเพิ่มพูนความเป็นมิตรไมตรีจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์การ ห้องสมุดไม่สามารถอยู่เพียงลำพังได้ จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างห้องสมุด
  • กระบวนการประชาสัมพันธ์
    กระบวนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
    (1)การวิจัย-การรับฟังความคิดเห็น (Research-Listening) เป็นขั้นตอนการดำเนินงานขั้นแรก เป็นการค้นคว้าหาข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากการวิจัยและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นการสำรวจตรวจสอบประชามติ ความคิดเห็น ทัศนคติ ตลอดจนปฏิกิริยาที่ประชาชนผู้เกี่ยวข้องมีต่อการดำเนินงานหรือต่อนโยบายขององค์กร
    หรือกล่าวได้ว่าการวิจัยมีขึ้นมาเพื่อต้องการทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในขณะนั้น เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ โดยมีการใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ โดยมีการตั้งคำถามที่จะต้องมีความกว้าง เพื่อให้ได้คำตอบในสิ่งที่ต้องการ ส่วนการรับฟังความคิดเห็น เป็นการสนทนา การพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นการพูดคุยเพื่อให้ได้แผนที่จะมาใช้ในการเตรียมการประชาสัมพันธ์
    (2)การวางแผนและการตัดสินใจ (Planning-Decision Making) การดำเนินงานในขั้นนี้เป็นการนำเอาทัศนคติและปฏิกิริยาต่างๆ ที่ค้นคว้ารวบรวมมาได้มาพิจารณาประกอบการวางแผน กำหนดนโยบายและโครงการขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดนโยบายและโครงการที่มีประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
    (3)การติดต่อสื่อสาร (Communication) คือ การปฏิบัติการสื่อสารกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินงานตามแผนหรือโครงการที่กำหนดไว้ โดยจะต้องเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย
    (4)การประเมินผล (Evaluation) เป็นการดำเนินงานในขั้นสุดท้าย เป็นการวัดผลว่าการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ที่ได้ทำไปแล้วนั้น ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางแผนหรือกำหนดโครงการไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นการประเมินว่าได้ผลดีมากน้อยเพียงใด หรือการได้รับผลตอบรับดีหรือไม่ดี
  • องค์ประกอบของการสื่อสาร
    (1)ผู้ส่งสาร เป็นผู้ริเริ่มที่จะบอกผู้อื่นว่าต้องการให้รับรู้เรื่องอะไร โดยใช้วิธีใดก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธีคิด พูด เขียน หรือโฆษณา มีความเชือมโยงกับวิธีในการวางแผน ผู้ส่งสารที่ดีควรมีคุณลักษณะ ดังนี้ คือ มีทักษะในการสื่อสารที่ดี มีความมั่นใจในตนเอง มีการพูดที่ชัดเจนและตรงประเด็น มีความรอบรู้ สามารถตอบคำถามได้อย่างรวดเร็ว มีทัศนคติที่ดีในเรื่องที่ตนนั้นจะต้องทำการประชาสัมพันธ์ มีความรู้เกี่ยวกับสารที่ต้องการจะสื่อสารและมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของผู้อื่น เช่น วัฒนธรรมขององค์กร วัฒนธรรมของผู้รับสาร เป็นต้น
    (2)สาร เป็นสิ่งที่ต้องการบอกหรือประกาศให้รับรู้ สารสามารถแบ่งออกได้เป็นภาษา (ระดับของสาร) เนื้อหาของสาร ที่มาของสาร (มาจากแหล่งใดบ้าง) ซึ่งสารนั้นจะมาจากแหล่งต่างๆ ที่ให้ข้อมูลสารสนเทศ
    (3)ช่องทางหรือสื่อ (Channel หรือ Media) ช่องทางที่ต้องการส่งสารนั้นออกไป ต้องทำการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สื่อใดในการส่งสาร เช่น การประกาศหรือโฆษณาทางโทรทัศน์หรือวิทยุ เป็นต้น
    (4)ผู้รับสาร เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะส่งสารนั้นออกไป ให้เกิดการรับรู้และเข้าใจในสารที่่ต้องการส่ง
    (5)ระบบสังคม เป็นสิ่งที่กำหนดให้ผู้ส่งสารมีบทบาทหน้าที่ทางสังคมเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้รู้ว่าคนกลุ่มนั้นต้องการอะไร
  • กลุ่มเป้าหมายของการสื่อสาร
    (1)การสื่อสารภายในองค์การ ประกอบไปด้วย การสื่อสารจากผู้บังคับบัญชา (ผู้บริหาร) การสื่อสารจากผู้ใต้บังคับบัญชา การสื่อสารจากผู้ร่วมงานระดับเดียวกัน และการสื่อสารต่างระดับสายงาน จะเห็นได้ว่าการติดต่อสื่อสารภายในองค์การ เป็นการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายในองค์การ ซึ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจาก จะทำให้ภายในองค์การเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและป้องกันการเข้าใจผิด
    (2)การสื่อสารภายนอกองค์การ การสื่อสารภายนอกนี้กระทำได้ 2 วิธี คือ การสื่อสารที่สถาบันควบคุมได้ กับ การสื่อสารผ่านสื่อมวลชน
  • หลักในการสื่อสาร
    หลักกว้างๆ ในการสื่อสารให้มีประสิทธิผล คือ
    1.ความถูกต้องน่าเชื่อถือ หมายถึง ความถูกต้องน่าเชื่อถือของสารและบุคคลผู้ส่งสาร หรือ แหล่งสาร สำหรับตัวผู้ส่งสารและแหล่งสารนั้น ความน่าเชื่อถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะหลายประการ ดังนี้
              (1)ความรู้ ประสบการณ์ของแหล่งสาร
              (2)บุคลิกภาพของผู้ส่งสาร
              (3)การมีคุณสมบัติที่สอดคล้องสัมพันธ์กับเนื้อหาของงาน
              (4)วิธีการสื่อสาร
    2.ความเหมาะสมกับเนื้อหาสาระ
    3.ความแจ่มแจ้ง
    4.ความเหมาะสมกับกาละเทศะ
    5.ความต่อเนื่องสม่ำเสมอ
    6.ความเหมาะสมในการใช้สื่อ
    7.ความสามารถของผู้รับสาร
  • การสื่อสารประชาสัมพันธ์
    ลักษณะเฉพาะของการสื่อสารประชาสัมพันธ์
    (1)การประชาสัมพันธ์เป็นการสื่อสารสองทาง
    (2)การประชาสัมพันธ์ทำได้ทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
    (2.1)แบบที่เป็นทางการ การติดต่อสื่อสารในลักษณะนี้ ฝ่ายบริหารมักจะใช้ในการชื้แจงบอกกล่าวกับประชาชนทั้งภายในและภายนอกองค์การ เป็นการติดตอสื่อสารที่ต้องมีระเบียบแบบแผนและข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจน และอาจทำเป็นลายลักษณ์อักษร
    (2.2)แบบที่ไม่เป็นทางการ ส่วนมากจะใช้ในการติดต่อระหว่างบุคคล ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในองค์การ การติดต่อสื่อสารแบบนี้มีความเหมาะสมที่จะใช้ในการสร้างความเข้าใจที่ดี หรือแก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นในกลุ่มประชาชนต่างๆ
    (3)การประชาสัมพันธ์เป็นการสื่อสารที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะ คือ
        -เป็นการสื่อสารเพื่อแจ้งให้ทราบ
        -เป็นการสื่อสารเพื่อให้ความรู้
        -เป็นการสื่อสารเพื่อให้ความบันเทิง
        -เป็นการสื่อสารเพื่อจูงใจ
    (4)การประชาสัมพันธ์เป็นการสื่อสารที่สามารถควบคุมสื่อได้เอง และอาศัยสื่อมวลชนทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์มาทำการสื่อสาร
    (5)มีการจัดกลุ่มเป้าหมาย
  • การวางแผนการประชาสัมพันธ์
    การวางแผนประชาสัมพันธ์ หมายถึง การกำหนดวิธีการปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานประชาสัมพันธ์และเพื่อให้การดำเนินงานนั้นๆ มีความสอดคล้องต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยแผนการประชาสัมพันธ์อย่างน้อยจะต้องระบกิจกรรมต่างๆ พร้อมกำหนดเวลาและรายละเอียดที่เหมาะสม
  • ความสำคัญของการประชาสัมพันธ์
    การประชาสัมพันธ์จะช่วยให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสถาบัน และกลุ่มประชาชน ฉะนั้น การประชาสัมพันธ์ถึงมีความสำคัญในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
    (1)ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสถาบัน องค์การกับกลุ่มปราะชาชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มประชาชนภายในหน่วยงานและกลุ่มประชาชนภายนอก
    (2)เป็นกลไกในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ชื่อเสียง ศรัทธาให้เกิดแก่สถาบัน องค์การ หรือหน่วยงาน
    (3)ช่วยผลักดันให้การดำเนินงานของสถาบัน องค์การ เป็นไปได้ด้วยดี
    (4)เป็นกลไกในการชักจูงโน้มน้าวใจ ให้เกิดการยอมรับ สนับสนุน และเกิดการปฏิบัติตาม
    (5)เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการตลาดในองค์การ สถาบันที่เป็นหน่วยงานธุรกิจ นำมาใช้ในการสื่อารสินค้า หรือบริการไปยังผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
    (6)เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถาบัน องค์การ
  • ความหมายของภาพลักษณ์
    ภาพลักษณ์ หมายถึง ภาพที่เกิดขึ้นในใจ อาจเป็นภาพใดๆ ก็ได้ ซึ่งเป็นความประทับใจของบุคคลที่มีต่อองค์กร บุคคล หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งความประทับใจนี้มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์หรือผลกระทบระหว่างบุคคลกับสิ่งนั้นๆ ภาพลักษณ์มีความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์มาก เมื่อใดองค์การมีการพิจารณาถึงการประชาสัมพันธ์ก็จะมีคำว่าภาพลักษณ์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เนื่องจากการประชาสัมพันธ์เป็นงานที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์และเป็นงานที่เสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน เพื่อผลแห่งชื่อเสียง ความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อองค์กร ในทางตรงกันข้ามหน่วยงานหรือองค์กรใดก็ตามหากมีภาพลักษณ์ไปในทางที่เสื่อมเสียแล้ว หน่วยงานนั้นย่อมไม่ได้รับความยอมรับนับถือ หรือความไว้วางใจจากประชาชน อาจมีความระแวงสงสัยหรือเกลียดชัง รวมทั้งอาจไม่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานนั้นๆ แต่ถ้าหากหน่วยงานมีภาพลักษณ์ที่ดี ภาพที่เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานย่อมเป็นสิ่งที่ดี ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ย่อมเกิดจากความเพียรพยายามด้วยระยะเวลาอันยาวนาน การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และเมื่อภาพลักษณ์นั้นตราตรึงอยู่ในจิตใจของประชาชนแล้ว ก็จะประทับแน่นอยู่ในจิตใจของประชาชนตราบนานเท่านาน
  • ภาพลักษณ์ขององค์การ
    ทุกองค์การ ทุกหน่วยงานต้องการให้หน่วยงานของตนมีภาพลักษณ์ที่ดี แต่การจะเกิดภาพลักษณ์ที่ดีได้นั้นต้องอาศัยเวลาและการสั่งสมแนวปฏิบัติที่ดี และต้องการคุณลักษณะที่ดีของบุคลากรเป็นเครื่องผลักดัน เมื่อเกิดมีขึ้นแล้วหน่วยงานนั้นก็ควรพยายามรักษาภาพลักษณ์นั้นไว้ ซึ่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์การจะมีหน้าที่เผยแพร่สู่สาธารณชน
  • การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคน
    คนทั่วไปมักมีความคิดที่ว่า การสร้างภาพลักษณ์ในองค์กรหรือหน่วยงานเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็มีความถูกต้องในบางส่วนเท่านั้น แต่โดยแท้จริงแล้วการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในองค์กร ซึ่งจะต้องให้ความร่วมมือด้วยดี เพราะการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี องค์กรจะไม่มีวันทำสำเร็จได้หากปราศจากความร่วมมือจากสมาชิกทุกคนในองค์กร เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ย่อมต้องมีการติดต่อกับประชาชนและมีบทบาทในการสร้างความประทับใจหรือภาพลักษณ์ที่ดี
  • การเกิดภาพลักษณ์
    ภาพลักษณ์เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
    (1)ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อม โดยที่สถาบัน องค์การไม่ได้ดำเนินการใดๆ
    (2)ภาพลักษณ์ที่เกิดจากกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ตามที่สถาบัน องค์การ ต้องการจะให้เป็น
  • การวางแผนการประชาสัมพันธ์
    การวางแผนการประชาสัมพันธ์ หมายถึง การกำหนดวิธีการปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานประชาสัมพันธ์และเพื่อให้การดำเนินงานนั้นๆ มีความสอดคล้องต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยแผนการประชาสัมพันธ์อย่างน้อยจะต้องระบุกิจกรรมต่างๆ พร้อมกำหนดเวลาและรายละเอียดที่เหมาะสม
  • ความสำคัญของการวางแผนการประชาสัมพันธ์
    (1)การวางแผนกำหนดแนวทางปฏิบัติ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ผู้ปฏิบัติมีขวัญและกำลังใจในการทำงานมาก
    (2)การวางแผนช่วยให้เกิดการประสานงานภายใน ช่วยเพิ่มความเข้าใจที่ถูกต้อง มีการประสานงานระหว่างฝ่ายประชาสัมพันธ์กับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
    (3)การวางแผนช่วยให้สามารถระบุปัญหาในการที่จะใช้การประชาสัมพันธ์แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ทางสถาบันเผชิญอยู่
    (4)การวางแผนช่วยให้ติดตามประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลักษณะการวางแผนการประชาสัมพันธ์ที่ดี
    การวางแผนการประชาสัมพันธ์ที่ดี มีลักษณะดังต่อไปนี้
    (1)มีความยืดหยุ่น
    (2)สามารถปฏิบัติได้
    (3)เหมาะสมกับเวลา
    (4)มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์
    (5)สามารถประเมินผลได้

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเล่าหนังสือ (Book Talk)

กระบวนวิชา 009355 บริการห้องสมุดและบริการสารสนเทศ

เรื่อง การเล่าหนังสือ (Book Talk)

ประจำวันที่ 26 กรกฏาคม พ.ศ.2554
_______________________________________________


การเล่าหนังสือ (Book Talk)
  • ความหมายของการเล่าหนังสือ
    การเล่าหนังสือ (Book Talk) เป็นการนำเอาหนังสือที่เลือกมาพูดให้เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ โดยเลือกจากจุดเด่นของหนังสือมาเล่า พร้อมทั้งมีหนังสือมาแสดงในขณะที่ผู้เล่ากำลังเล่าเรื่องด้วย เพื่อเป็นการแนะนำหนังสือเพือดึงดูดให้ผู้ฟังเกิดความสนใจและช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้ฟังที่จะติดตามหนังสือเล่มนั้นมากยิ่งขึ้น 
  • การเตรียมการและวิธีการเล่าเรื่องหนังสือ
    (1)ทำการเลือกหนังสือที่จะเล่า โดยต้องมีการคำนึงถึงผู้ฟังและผู้เล่าด้วย
    (2)พิจารณาจำนวนผู้ฟัง ระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงจะเห็นได้ว่ามีความสนใจในเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะสนใจในเรื่องที่ไม่เหมือนกัน หรืออาจมีความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้ฟังต้องทำการพิจารณาว่าจะนำประเด็นใดในหนังสือมาพูดเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ฟัง ดังนั้น ต้องอาศัยจิตวิทยาในการเล่าให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟังที่มาฟัง
    (3)พิจารณาภูมิหลังของกลุ่มผู้ฟัง ผู้เล่าจะต้องทราบว่ากลุ่มผู้ฟังที่มาฟังเป็นใคร กำลังสนใจในเรื่องอะไร มีประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร และกำลังประสบปัญหาในเรื่องใด เพื่อให้สามารถเลือกหนังสือที่มีความเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มฟังได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ฟัง เพื่อเป็นแนวทางก่อให้เกิดการส่งเสริมการค้นคว้าหาข้อมูลมากขึ้นในกลุ่มผู้ฟัง
    (4)จัดหัวข้อเรื่องที่จะเล่า กำหนดจำนวนหนังสือที่จะนำมาเล่าในหัวข้อนั้นๆ ต้องมีการจัดระเบียบในการฟัง มีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการเล่า คือ เพื่อรณรงค์ให้มีคนสนใจอ่านหนังสือในห้องสมุดมากยิ่งขึ้น และทำให้ผู้ใช้รู้จักหนังสือในห้องสมุดมากขึ้น
    (5)กำหนดเวลาในการเล่า หลังจากที่ผู้เล่าสามารถกำหนดหัวข้อในการนำมาเล่าได้แล้ว จะใช้เวลาในการเล่าประมาณ 40 นาที และเหลือเวลาไว้อีกประมาณ 10 นาที เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้สอบถามข้อสงสัย หรือแลกเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิดเห็นในเชิงวิชาการระหว่างผู้ฟังกับผู้เล่า ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ คือ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในหนังสือมากยิ่งขึ้น
    (6)ทำโน้ตที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูด หรือทำเป็นโครงเรื่องก่อนที่จะมีการพูด เป็นการบันทึกประเด็นสำคัญในการพูด ต้องมีการจัดทำบรรณานุกรมและมีการอ้างอิงที่ถูกต้อง
    (7)บางครั้งใช้วิธีการอ่านก็ได้ เช่น อ่านโคลงหรือกลอน หรือความเรียงบางเรื่องที่ใช้ภาษาไพเราะ และสละสลวย
  • การวิจารณ์หนังสือ (Book Review)
    การวิจารณ์หนังสือเป็นการพิจารณาหนังสือเกี่ยวกับลักษณะการเขียนเนื้อว่ามีจุดดีหรือจุดเด่น ความประทับใจ หรือการให้ความรู้ ข้อคิดในเรื่องใด มีข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนอยู่ในวิธีการเขียน หรือเนื้อหาสาระของเรื่องในตอนใดบ้าง อาจจะมีการเชิญนักเขียน หรือวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในการวิจารณ์หนังสือ และเป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ฟังมาวิจารณ์หนังสือ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจในหนังสือในห้องสมุดมากขึ้น ส่งเสริมการอ่านให้กับผู้ใช้ในห้องสมุด เนื่องจาก เป็นการแนะนำเนื้อหาภายในหนังสือว่ามีเนื้อหาที่มีคุณค่ามากน้อยเพียงใด
  • จุดประสงค์ของการจัดการวิจารณ์หนังสือในห้องสมุด
    (1)ส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือที่มีคุณค่ามากขึ้น
    (2)ส่งเสริมให้มีวิจารณญาณในการอ่าน
    (3)เป็นการแนะนำหนังสือดีที่ควรอ่าน
  • ลักษณะของนักวิจารณ์หนังสือที่ดี
    (1)เป็นนักอ่าน หรือชอบอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
    (2)เป็นผู้พยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของหนังสือ และวิธีการวิจารณ์
    (3)ควรได้ศึกษาชีวิตและงานของนักเขียน ทัศนคติที่ปรากฏเด่นในงานประพันธ์ ลีลาการเขียน และควรศึกษาผลงานอื่นๆ ของผู้เขียนด้วย
    (4)มีความสามารถในการอ่านและมีวิจารณญาณอันดี
    (5)มีใจเป็นกลาง
  • ประโยชน์จากการวิจารณ์ (นักวิจารณ์หนังสือที่มีความรู้และมีใจเป็นธรรมย่อมได้รับสิ่งประโยชน์จากการวิจารณ์ เนืองจากปราศจากอคติในการวิจารณ์ ย่อมวิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง)
    (1)ทำให้เกิดความคิด สติปัญญา ไม่ปล่อยให้สิ่งใดผ่านไป โดยไม่พิจารณา
    (2)ทำให้ผู้วิจารณ์มีความรู้ในสิ่งต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น
    (3)สามารถแก้ไขสิ่งบกพร่องให้ดีได้
    (4)ช่วยทำให้เป็นผู้มีเหตุผล เพราะการวิจารณ์จะต้องคำนึงถึงหลัก และต้องวิจารณ์อย่างมีเหตุผล
    (5)ความเที่ยงธรรมในการวิจารณ์ การไม่ใช้อารมณ์ จะช่วยปลูกฝังนิสัยดีติดตัวไปด้วย
  • การจัดนิทรรศการ (Library Display)
    ความหมายของนิทรรศการ
    นิทรรศการ ถือเป็นการแสดงการให้การศึกษาแก่ผู้ที่มาชมอย่างหนึ่ง ซึ่งการแสดงงานให้ชมนั้นอาจมีผู้บรรยายให้ฟัง หรือไม่มีก็ได้ จะใช้สถานที่ในอาคาร หรือภายนอกอาคารก็ได้ ข้อควรคำนึงถึงในการจัดนิทรรศการต้องจัดอย่างมีระเบียบเรียบร้อย สามารถดูได้ง่าย อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความแจ่มชัด และก่อให้เกิดความรู้
  • วัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการของห้องสมุด
    (1)กระตุ้นให้เกิดความสนใจในการอ่านหนังสือ
    (2)แสดงให้ผู้ใช้ทราบว่ามีการให้บริการใดในห้องสมุด และทรัพยากรภายในห้องสมุดจะช่วยคนในชุมชนได้อย่างไร
    (3)แจ้งข่าวคราวความเคลื่อนไหวของห้องสมุด และเหตุการณ์ความเป็นไปของโลกภายนอกให้ผู้ใช้ทราบ
    (4)เชิญชวนให้ผู้ใช้เข้าใช้ห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น
    (5)เพื่อจัดบรรยากาศในห้งอสมุดให้สดใส สวยงาม สบายตา น่าเข้าไปอ่านหนังสือ และน่าใช้เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้เพิ่มมากขึ้น
  • ความรู้ที่บรรณารักษ์พึงมีเพื่อประโยชน์ในการจัดนิทรรศการที่ดี
    (1)ความรู้เรื่องศิลปะ
    (2)ความรู้ในสาระของข้อมูลแต่ละเรื่อง
    (3)มีความคิดสร้างสรรค์
    (4)มีความเข้าใจในองค์ประกอบศิลปะ
  • การแบ่งประเภทนิทรรศการ สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
    (1)นิทรรศการใหญ่
    (2)นิทรรศการย่อย
    (3)นิทรรศการให้คำแนะนำโดยตรง
    (4)นิทรรศการความรู้
    (5)นิทรรศการหนังสือ
    (6)นิทรรศการเทศกาลและวันสำคัญ

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Library Trend

กระบวนวิชา 009355

สรุปเรื่อง Library Trend

ประจำวันที่  23  กรกฎาคม  พ.ศ.2554
________________________________

Library Trend

  • บทนำ
    -Library Trend  จัดเป็นการบริการสารสนเทศรูปแบบใหม่ (New Service) ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ประเภท  มีดังต่อไปนี้
  1. Cloud  Computing
    -การบริการของห้องสมุดทั้งหมดจะเปลี่ยนไปเป็นแบบ Cloud Computing ทั้งระบบ
    -ข้อควรระมัดระวังในการนำมาประยุกต์ใช้ ควรตรวจสอบดูก่อนว่ามีความเหมาะสมต่อสถาบันสารสนเทศหรือห้องสมุดหรือไม่  ตัวอย่างของ Cloud Computing เช่น Facebook , Gmail
    Cloud Computing สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ ดังนี้
    1.1ที่ตั้ง การทำงานที่เราไม่สามารถประมวลผลบบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองได้ โดยที่ไม่รู้ว่าถูกเก็บไว้ที่คอมพิวเตอร์เครื่องใด เป็นการทำงานโดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แล้วประมวลผลโดยเน็ตเวิร์คกลางของโลก หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการทำงานที่เราไม่ทราบว่าข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นไปอยู่ที่ใด โดยที่เราไม่ทราบแหล่งที่ตั้งของข้อมูลที่จัดเก็บและเครื่อง Server ดังนั้น Cloud Computing จึงเป็นการทำงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีเครื่อง Server เครื่องใดเครื่องหนึ่งทำการประมวลผลข้อมูล   
    1.2กลุ่มก้อน ไม่ได้มี Server ตั้งอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เครื่อง Server กลางจึงไม่ได้มีเพียงแค่จุดเดียว เห็นได้จาก Gmail สามารถรองรับคนได้ทั่วโลก โดยไม่มีการจำกัดจำนวนของผู้เข้าใช้ มีการตั้งเครื่อง Server แบบกระจายทั่วโลก โดยที่ผู้ใช้ไม่ทราบว่าตั้งอยู่ที่ใดบ้าง
    -OCLC (www.oclc.org) มีคำขวัญที่กล่าวไว้ว่า The World's Libraries Connected เป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับห้องสมุดซึ่งมีส่วนช่วยให้ห้องสมุดแต่ละแห่งนั้นสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันโดยมีการจัดทำระบบ Cloud ILS และ Cloud OPAC ซึ่งห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องติดตั้ง Server OPAC หรือ Program ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่เกิดการสิ้นเปลืองเงินงบประมาณที่ห้องสมุดได้รับเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ห้องสมุดจึงควรที่จะเช่าพื้นที่จาก OCLC เนื่องจาก สามารถเชื่อมต่อกับห้องสมุดอื่นๆ อีกหลายแห่ง
    Cloud Computing สามารถแบ่งแยกตามกลุ่มผู้ใช้ ได้ดังนี้
    (1)ระดับองค์กร เช่น Cloud Library
    (2)ระดับบุคคลหรือบริการ เช่น Gmail , Facebook , Meebo
    (3)Cloud แบบผสม เช่น Dropbox จะเห็นได้ว่าสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการใช้ Cloud แบบผสม คือ มีการใช้ทั้งแบบ Public และ Hybrid เป็นการเก็บรวบรวมงานหรือการนำข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาไว้บนเว็บไซต์แล้วให้คนอื่นสามารถมาดาวน์โหลดจาก URL ไปใช้งานด้วยตนเอง เป็นการทำ Cloud ในระดับ Storage
    Cloud Computing สามารถแบ่งแยกตามการให้บริการ ได้ดังนี้
    (1)Public Cloud เป็นการให้บริการสาธารณะ หรือระดับองค์กร เช่น Gmail , Facebook
    (2)Private Cloud เป็นการให้บริการแบบส่วนบุคคล เช่น การใช้ Dropbox ของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    (3)Hybrid Cloud เป็นการรวมทั้งแบบ Private และแบบ Public รวมไว้ด้วยกัน สามารถให้บริการได้ทั่วโลก เนื่องจากมีการจัดทำเป็นแบบสาธารณะ 
    Cloud Computing สามารถแบ่งแยกตามประเภทของเทคโนโลยี
    (1)SaaS (Software as a Service) เป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์มาทำการติดตั้งทีละเครื่องเหมือนแต่ก่อน เพียงแค่เราทราบ URL เท่านั้นก็สามารถทำการติดตั้งได้ทุกเครื่อง ตัวอย่างเช่น 
    Google Docs สามารถใช้พิมพ์งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น Word , Excel , PowerPoint การทำแบบสอบถามหรือแบบสำรวจความ
    http://www.zoho.com/ มีระบบงานแบบ Business เช่น ระบบการเงิน ระบบงานบุคคล แต่จะไม่เสียค่าใช้จ่ายระบบการเงิน มีการเสียค่าใช้จ่ายตามเรทที่ต้องการใช้งาน 
    (2)Iaas (Infrastructure as a Service) เป็นการให้บริการของผู้ให้บริการ Server ที่ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเช่าพื้นที่หรือซื้อเครื่อง Server เป็นจำนวนมากในการให้บริการแก่ผู้ใช้ และผู้ใช้บริการก็สามารถใช้ได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น Gmail
    (3)Paas (Platform as a Service) เป็นการให้บริการโดยโปรแกรมเมอร์ทำการเขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อรองรับให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทั่วโลก
  2. Mobile Device
    เป็นการบริการที่ใช้ภายในงานของห้องสมุดที่ต้องอยู่บน Mobile ด้วย ต้องทำการสำรวจก่อนว่าผู้ใช้นั้นมีการใช้โทรศัพท์มือถือจริงหรือไม่ และหากมีการใช้จะใช้โทรศัพท์ประเภทใดมากที่สุด ซึ่งสามารถรู้จักและทราบถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ได้จาก Truehits.net ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการรวบรวมสถิติของประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาผู้ใช้มาทำการประเมินก่อนที่จะออกแบบเว็บไซต์เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ให้ได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด ซึ่งผู้ใช้จะมีการใช้อุปกรณ์ในการเข้าถึงเว็บไซต์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้
    2.1)Smart Phone เช่น Java , Debian ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่อยู่บนมือถือ
    2.2)Tablet เช่น Android (Galaxy Tab , Galaxy s , LG , HTC)
    2.3)eReader เช่น IOS , Ipad
    2.4)Netbook เช่น Window รวมถึง Notebook โดยทั่วไป ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ไร้สาย รองรับการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้โดยตรง
    ข้อสังเกต IPAD เสียเปรียบ Galaxy Tab เนื่องจาก IPAD ไม่สามารถแสดง Flash ได้ ในขณะที่ Galaxy Tab สามารถแสดง Flash ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า Flash นั้นเป็นสิ่งที่มีการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบบนหน้าเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก 
  3. Digital Content & Publishing เช่น eBook , IR , Digital Library , OJS
    เกิดขึ้นเนื่องมาจากองค์กรทั่วโลกมีงบประมาณลดลง อีกทั้งภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ จึงส่งผลให้มีเงินรายได้ไม่เพียงพอ และไม่สามารถจ้างคนให้มาทำงานเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งคนที่ทำงานอยู่แล้วก็ต้องแบกรับภาระในการทำงานเพิ่มมากขึ้น และรับผิดชอบในงานขององค์กรมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นแล้วห้องสมุดขาดงบประมาณในการบอกรับเป็นสมาชิกวารสาร เนื่องจาก วารสารมีราคาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่งบประมาณที่ห้องสมุดได้รับลดน้อยลง ส่งผลให้ห้องสมุดหลายแห่งมีการสร้าง Content ของตนเองขึ้นมาใช้ภายในห้องสมุดของตน ซึ่งมีแนวคิดอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเมื่อเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษา อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องมีการผลิตผลงานทางวิชาการขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเอกสารหรือบทความทางวิชาการ คู่มือ ตำราทางวิชาการ เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ในการให้บริการภายในห้องสมุด ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญภายในห้องสมุด
    สำหรับขั้นตอนในการจัดทำ ebook ต้องคำนึงถึง
    1)การได้มาของเนื้อหา เป็นการนำผลงานของอาจารย์มาจัดทำในรูปแบบของ eBook เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการภายในห้องสมุด
    2)กระบวนการผลิตและรูปแบบ ในการเลือกรูปแบบต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมายว่าผู้อ่านเป็นใคร เนื่องจากรูปแบบในการจัดทำจะแตกต่างกันตามวัยของผู้อ่าน โดยต้องทำการสำรวจความต้องการของผู้ใช้ว่าต้องการรูปแบบใด และควรผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้
    รูปแบบของ eBook มีดังนี้
    (1).doc เป็นการพิมพ์ด้วย Microsoft Word แล้วนำไปเผยแพร่
    (2).pdf สามารถดาวน์โหลดได้ง่ายและรวดเร็ว
    (3)Flip eBook เช่น โปรแกรม Flip Album อาจจะสามารถแสดงบนเว็บไซต์ได้หรือไม่ได้ก็ได้
    (4)Flip Flash eBook  สามารถแสดงบนเว็บไซต์ได้ และยังแสดงไฟล์ Flash บนเว็บไซต์ได้
    (5)ePublishing มีรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับ โปสเตอร์ หรือหนังสือต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
    (6).ePub เช่น Smart Phone , IPAD , Galaxy Tab , IPhone ซึ่งเป็นนามสกุลของไฟล์เอกสารทีมีความคล้ายคลึงกับไฟล์ PDF เป็นมาตรฐานหรือนามสกุลของไฟล์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่
    (7)Digital Multimedia Book เมื่อคลิกที่รูปภาพแล้วจะเล่นวิดีโอขึ้นมาโดยอัตโนมัติ หรือ เมื่อหากคลิกที่รูปภาพแล้วจะแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว ไม่ได้เป็นภาพนิ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรือ ที่รูปภาพอาจมีการทำการเชื่อมโยงไปยังวิดีโอก็ได้
    3)ลิขสิทธิ์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ลิขสิทธิ์ต้นฉบับ กับ ลิขสิทธิ์การเผยแพร่ ซึ่งหากมีการนำไปจัดทำเป็น eBook ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน 
  4. Crosswalk Metada
    เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาจากบรรณารักษ์ ซึ่งเป็นการเดินข้ามข้อมูลชุดหนึ่งไปยังข้อมูลอีกชุดหนึ่ง เป็นการนำเมทาดาตาที่มากกว่าหนึ่งชุดมาผสมผสานกัน หรือมากกว่า 1 ประเภทหรือ 1 รูปแบบมาผสมกันในวัตถุ 1 ชิ้น ซึ่งเมทาดาตามีหลายรูปแบบ ดังนี้
    (1)MARC
    (2)MARCML
    (3)Dublin Core
    (4)ISAD (g) เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการจัดทำจดหมายเหตุดิจิตอล
    (5)CDWA เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์
    (6)RDF เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการจัดทำ High KM ในรูปแบบของ Web 3.0 หรือ Web Sementic
    (7)OWL เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการจัดทำ High KM ในรูปแบบของ Web 3.0 หรือ Web Sementic
    (8)MODS เป็นมาตรฐานในการใช้ทำ Digital Collection Library แต่มี Element มากกว่า Dublin Core
    (9)METs เป็นมาตรฐานในการใช้ทำ Digital Collection Library แต่มี Element มากกว่า Dublin Core
    (10)PDF Metadata
    (11)Doc Metadata
    (12)EXIF เป็นมาตรฐานของภาพถ่ายดิจิตอล เช่น การทำงานของนักข่าว CNN 
    (13)XMP เป็นมาตรฐานของภาพถ่ายดิจิตอล เช่น การทำงานของนักข่าว CNN
    (14)IPTC เป็นมาตรฐานของภาพถ่ายดิจิตอล เช่น การทำงานของนักข่าว CNN 
  5. Open Technology
    เป็นมาตรฐานที่เปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงข้อมูลบรรณานุกรมของแต่ละสถาบันได้
    ILS หรือ DBS <---> DBS , Apps
    5.1)Z39.5 (ILS <---> ILS) เป็นมาตรฐานของการแลกเปลี่ยนข้อมูลบรรณานุกรมหนังสือผ่าน ILS กับ ILS หรือ เป็นการดูดบรรณานุกรมที่มีการลงรายการไว้เรียบร้อยแล้วเข้าไปยังห้องสมุด จึงเป็นการช่วยประหยัดเวลาและลดภาระงานให้กับบรรณารักษ์ เนื่องจาก บรรณารักษ์ไม่ต้องทำการลงรายการเอง สามารถคัดลอกบรรณานุกรมที่มีผู้จัดทำไว้โดยการนำเลข ISBN ป้อนเข้าไปยังโปรแกรม จากนั้นโปรแกรมก็จะดูดบรรณานุกรมของห้องสมุดอื่นมาใส่ไว้ให้เรียบร้อย
    5.2)Z39.88 (ILS <---> Apps) เป็นมาตรฐานที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งช่วยในการให้ข้อมูลบรรณานุกรมกับ Reference Manager Software ของห้องสมุด ร่วมกับ Reference Manager Application อื่นๆ นับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลบรรณานุกรมของหนังสือหรือบรรณานุกรมอื่นๆ
    -OAI-PHM เป็นแนวคิดในการจัดทำ One Search ตัวอย่างเช่น http://tnrr.in.th ระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย ซึ่งเกิดมาจากความคาดหวังของผู้ใช้เมือค้นหาข้อมูลเพียงครั้งเดียวก็จะปรากฎสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่างครบถ้วน ไม่ต้องไปค้นหาจากเว็บไซต์อื่นๆ อีก และต้องมีการบอกถึงแหล่งที่มาของข้อมูลที่ผู้ใช้ได้รับว่ามาจากแหล่งใดบ้าง และที่สำคัญผลลัพธ์ที่ได้จะต้องมีรูปแบบ Visual กับกับร่วมด้วย ไม่ควรทำผลลัพธ์ในรูปแบบ Text เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
    www.vijai.net เป็น One Search แบบ Web Query
    Linked data ---> Semantric Web / Web3.0 
    -  Metadata
    -  Bibliography
    Semantic Web เป็นการสืบค้นที่ผู้ใช้สามารถป้อนคำค้นหาเป็นประโยคได้ สำหรับ Web 3.0 จะเป็นการพิมพ์คำค้นแล้วแนะนำคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ใช้ได้ หรือแนะนำคำอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับคำที่สืบค้นมาให้ผู้ใช้ได้ สำหรับ Search Engine ที่เป็นต้นแบบของ Web 3.0 คือ http://www.wolframalpha.com และ http://164.115.5.61/thesaurus
    Linked Data สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    (1)Web 1.0 เป็นเว็บไซต์ที่ให้สิทธิ์คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ ซึ่งมีข้อจำกัด คือ ผู้ใช้สามารถอ่านได้เพียงอย่างเดียว
    (2)Web 2.0 เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถสร้างเว็บไซต์เป็นของตนเองได้บนอินเตอร์เน็ต
    (3)Web 3.0 หัวใจหลัก คือ Semantic Web ถ้าเป็น Semantic Web เป็นการสืบค้นข้อมูลที่ต้องป้อนเป็นประโยค ต้องเป็นประโยคสืบค้นที่มีความหมาย จึงจะถือเป็น Web เชิงความหมาย สามารถให้คำตอบแก่ผู้ใช้ได้
  6. Data & Information Mining / Visualization 
    ระบบฐานข้อมูลที่สามารถให้ผลลัพธ์ได้มากกว่าที่ผู้ใช้ค้นหา ผู้ใช้จะต้องได้ข้อมูลที่มากกว่า Text คือ ผู้ใช้จะได้รับข้อมูลในรูปแบบที่เป็นสื่อประสมหรือภาพเคลื่อนไหว ซึ่งในการค้นหาข้อมูลในแต่ละครั้งจะต้องทำสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
    (1)Search
    (2)การวิเคราะห์
    (3)การแสดงผลเป็นเส้นกราฟที่มีการโยงความสัมพันธ์กัน
    www.boliven.com เป็นการให้บริการที่มีการเชื่อมโยงคำสืบค้นไปให้ผู้ใช้ได้ด้วย Visual Search เช่น www.vadl.cc.gatech.edu เป็นเว็บห้องสมุดดิจิตอล
    เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับรูปภาพ ซึ่งสามารถค้นโทนสีของภาพได้
    http://labs.ideeinc.com/visual
    www.krazydad.com/colrpickr
    http://labs.ideeinc.com/multicocour
  7. Green Library 
    เป็นแนวคิดที่เกิดมาจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงเกิดเป็นแนวคิดทำอย่างไรที่จะให้ห้องสมุดมีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อนขึ้น  หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ จึงได้มีการจัดทำโครงการขึ้นภายในห้องสมุดให้มีการจัดกิจกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนขึ้นมา เพื่อคำนึงถึงสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นดโครงการห้องสมุดสีเขียวขึ้นมา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้
    7.1)Green Building เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาคารและการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องสมุด เช่น การปลูกต้นไม้บนหลังคา และนำเอาต้นไม้เข้ามาไว้ในบางจุดภายในห้องสมุดตามความเหมาะสม การนำโต๊ะอ่านหนังสือมาไว้ใกล้หน้าต่าง เพื่อให้ผู้ใช้ใช้แสงสว่างจากธรรมชาติในการอ่านหนังสือ การใช้สวิตซ์ไฟที่ผู้ใช้ไม่ต้องเปิด-ปิดด้วยตนเอง แต่จะเป็นแบบอัตโนมัติที่สว่างขึ้นมาเองหากผู้ใช้เดินไปภายในบริเวณที่อ่านหนังสือของตน หรือจะเปิดเฉพาะบริเวณที่มีผู้ใช้มานั่งอ่านหนังสือเท่่านั้น
    ตัวอย่างเว็บไซต์ที่จัดโครงการหรือกิจกรรมห้องสมุดสีเขียวขึ้นมา คือ www.beat2010.net
    7.2)Green ICT เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำซ้ำหนังสือจากการถ่ายเอกสารเป็นการสแกนหนังสือแทน  มีการใช้อุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ที่ช่วยลดปริมาณการใช้พลังงาน นอกจากนี้การนำ cloud มาใช้ในองค์กรก็สามารถช่วยลดพลังงานได้เป็นอย่างมาก เนื่องจาก ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่อง Server มาใช้ภายในห้องสมุด โดยการซื้อเครื่อง Server จากภายนอกแทน จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

    Web 4.0
    เป็นเว็บที่มีการก้าวเข้าสู่ระบบ Automatic AV
    ตัวอย่างเว็บไซต์ต้นแบบของ Web 4.0 มีดังนี้
    -www.researchgate.net
    -www.biomedexperts.com เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ของคำที่สืบค้นมาให้ทั้งหมด
    จะเห็นได้ว่า Web 4.0 เป็นเว็บที่สามารถดึงเอาข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคนทั้งหมดที่ผู้ใช้เคยมีประวัติการเข้าร่วมทำกิจกรรมหรือมีข้อมูลอยู่บนเว็บไซต์ที่ใดบ้างมายังผู้ใช้ทั้งหมด ทำให้ผู้ใช้สามารถทราบประวัติทั้งหมดได้ทันที ถึงอย่างไรก็ตาม Web 4.0 ก็ยังคงเป็นปัญหาในเรื่องของความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เนื่องจาก มีการนำเอาข้อมูลทุกอย่างของผู้ใช้มาทำการรวบรวม ย่อมก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิบางอย่างของผู้ใช้ได้นั่นเอง


     

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมห้องสมุด

กระบวนวิชา 009355 บริการห้องสมุดและบริการสารสนเทศ

ประจำวันที่  22  กรกฎาคม  พ.ศ.2554


สรุปเรื่อง กิจกรรมห้องสมุด
______________________________________________

กิจกรรมห้องสมุด

  • ความหมายของกิจกรรมห้องสมุด
    -เป็นงานที่ห้องสมุดจัดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือในโอกาสต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ห้องสมุด และส่งเสริมการอ่าน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการส่งเสริมให้มีการอ่านตลอดชีวิต จึงทำให้มีความแตกต่างกับงานบริการที่จัดขึ้นในห้องสมุด ซึ่งจะเป็นงานที่จะคงอยู่ภายในห้องสมุดตลอดไป และมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เป็นงานประจำที่บรรณารักษ์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการวางแผนว่าจะจัดทำเป็นระยะเวลานานเท่าใด เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด ก่อให้เกิดการปรับปรุงในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    -บรรณารักษ์จึงต้องเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมที่มีความน่าสนใจขึ้นมาเพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้เข้ามาใช้บริการของห้องสมุดมากขึ้น โดยมีความคิดที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น บรรณารักษ์จึงต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ต้องตามติดความทันสมัย เพื่อให้สามารถจัดบริการที่ทันสมัยให้กับผู้ใช้ได้ นอกจากนี้ยังต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเพื่อให้สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ได้ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของบรรณารักษ์เองในการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้ เพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เกิดความพึงพอใจและเกิดความรู้สึกที่ดี มีความประทับใจในบริการและกลับมาใช้ห้องสมุดในภายหลัง 
    Information Literacy หมายถึง การเข้าถึงแหล่งสารสนเทศเพื่อให้สามารถคัดเลือกและประเมินคุณค่าของสารสนเทศเหล่านั้นได้ ทำให้ได้รับสารสนเทศตรงตามความต้องการในการนำไปใช้งาน
  • ความสำคัญของกิจกรรมห้องสมุด
    การจัดกิจกรรมของห้องสมุดนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ห้องสมุดเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทำให้คนทั่วไปทราบถึงวิธีการดำเนินงานภายในห้องสมุดว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร รวมทั้งทรัพยากรสารสนเทศที่จัดไว้ในห้องสมุดมีอะไรบ้าง และครอบคลุมถึงสิ่งที่ห้องสมุดจัดทำว่ามีอะไรบ้าง
    ข้อสังเกต จะเห็นได้ว่าการประชาสัมพันธ์ของห้องสมุดมีการนำหลักการตลาดมาใช้เพื่อให้เกิดการโน้มน้าวจูงใจให้คนทั่วไปหันมาใช้บริการจากห้องสมุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการกระตุ้นให้คนเข้ามาใช้บริการห้องสมุด โดยในการจัดกิจกรรมของห้องสมุดจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น และทำให้คนเกิดนิสัยรักการอ่าน มองเห็นความสำคัญในการอ่านหนังสือ เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะช่วยในการเปิดมุมมองทางความคิดให้กว้างไกล มีความรอบรู้และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ 
  • วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมห้องสมุด มีดังนี้
    (1)เพื่อประชาสัมพันธ์งานและบริการต่างๆ ของห้องสมุด
    (2)เพื่อรณรงค์ให้มีการอ่านหนังสือ
    (3)เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากอ่านหนังสือประเภทต่างๆมากขึ้น
    (4)เพื่อเป็นก้าวแรกของการรู้จักศึกษาค้นคว้าสารสนเทศมาใช้จัดกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลต่อผู้เข้าชมกิจกรรมแต่ละครั้ง
  • ประเภทของกิจกรรมของห้องสมุด สามารถจัดแบ่ตามประเภทวัตถุประสงค์ที่จัดได้ดังนี้
    (1)กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
    (2)กิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องห้องสมุด
    (3)กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน
    (4)กิจกรรมส่งเสริมความรู้ทั่วไป สำหรับบุคคลทั่วไป
    (5)กิจกรรมส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
  1. กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
    เป็นกิจกรรมที่สร้างแรงจูงใจให้สมาชิกสนใจในการอ่านและเกิดนิสัยรักการอ่าน มีดังต่อไปนี้
    -การเล่านิทาน
    -การเล่าเรื่องหนังสือ
    -การตอบปัญหาจากหนังสือ
    -การอภิปราย
    -การออกร้านหนังสือ (ในงานนิทรรศการ)
    -การแสดงละครหุ่นมือ (วรรณกรรมสำหรับเด็ก)
    -การโต้วาที (การคิดหัวข้อการโต้วาทีที่เป็นการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งจะต้องมีการเตรียมตัวในการศึกษาหาข้อมูลมาใช้ในการโต้วาที เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ)
    -การประกวด (วาดภาพ แต่งกลอน ถ่ายภาพ เป็นต้น)
    -การแข่งขัน
    -การจัดแสดงหนังสือใหม่
    -การวาดภาพโดยใช้จินตนาการจากการฟังนิทาน
  2. กิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องห้องสมุด
    เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้รู้จักใช้ห้องสมุดในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งมีดังต่อไปนี้
    -การแนะนำการใช้ห้องสมุด
    -การปฐมนิเทศการใช้ห้องสมุด
    -การนำชมห้องสมุด
    -การอบรมนักเรียนให้รู้จักช่วยงานห้องสมุด หรือที่เรียกว่า ยุวบรรณารักษ์
  3. กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน
    เป็นกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
    -การจัดนิทรรศการ
    -การประกวดคำขวัญ
    -การประกวดเรียงความ
    -การตอบปัญหา
    -การประกวดวาดภาพ
    -การให้ความร่วมมือกับผู้สอนในการจัดให้มีการศึกษาค้นคว้าในชั่วโมงเรียน
  4. กิจกรรมส่งเสริมความรู้ทั่วไป
    เป็นกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้น เพื่อเสริมความรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการ ได้แก่
    -การจัดสัปดาห์ห้องสมุด
    -การจัดนิทรรศการ
    -การสาธิตภูมิปัญญา
    -การจัดป้ายนิเทศเสริมความรู้
    -การฉายสื่อมัลติมีเดีย
    -การตอบปัญหาสารานุกรมไทยและหนังสือความรู้รอบตัว
    ข้อสังเกต ในการจัดนิทรรศการนั้นจะเป็นการเลือกใช้วัสดุรองรับสื่อหรือเนื้อหาต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง ส่วนป้ายนิเทศนั้นเป็นป้ายที่ใช้เสริมความรู้ เป็นการสื่อความรู้โดยไม่มีการใช้ข้อความที่มาก จึงเป็นองค์ความรู้แบบสั้นๆ   โดยใช้ข้อความสั้นๆ เพื่อบอกกล่าวถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนั้น ใช้ในการติดตามข้อมูลข่าวสาร
  5. กิจกรรมส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ 
    เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จากการอ่าน ซึ่งมีดังต่อไปนี้
    -การจัดมุมรักการอ่าน
    -การจัดมุมหนังสือในห้องเรียน
    -การจัดห้องสมุดเคลื่อนที่
  • การเล่านิทาน (Story telling)*การเล่านิทานมีจุดเริ่มต้นในการบอกเล่าสืบต่อกันมา เรียกว่า "มุขปาฐะ" มีการปรับเปลี่ยนเรื่องเล่าให้เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ แต่ยังคงรักษาเค้าโครงเดิม
    การเล่านิทานเป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านประเภทหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน เพราะนิทานให้ทั้งความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เพิ่มพูนความรู้ทางภาษา เสริมสร้างจินตนาการ ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของตนเอง เนื่องจากเกิดความคล้อยตามจากการเรียนรู้จากการฟังนิทาน นอกจากนี้ผู้เล่านิทานต้องมีการใช้จิตวิทยาในการศึกษาความสนใจของผู้ฟังว่าให้ความสนใจในเรื่องใดบ้างก่อนทำการเล่า เนื่องจาก ในการเล่านิทานย่อมมีทั้งผู้ฟังที่เป็นเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ดังนั้นผู้เล่าจึงต้องพิจารณาเรื่องที่จะนำมาเล่าให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่จะมาฟังด้วย ซึ่งจะมีความสนใจเหมือนกัในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ผู้เล่าต้องพยายามสื่อไปให้ถึงนิทานที่เป็นตัวเล่มให้ได้ เนื่องจากเราใช้นิทานเป็นสื่อนำไปสู่การอ่าน ถ้าผู้เล่าสามารถเล่าเรื่องให้สนุก เด็กก็จะเกิดความสงสัยและซักถามผู้เล่าหลังจากฟังเรื่องเล่าจบ และผู้เล่าทิ้งท้ายไว้ให้ติดตามต่อไป นักเรียนจะอยากรู้จนต้องหาหนังสือมาอ่านเอง จึงเห็นได้ว่าการเล่านิทานนั้นมีบทบาทช่วยสั่งสอนด้านศีลธรรมจรรยา ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เด็กเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม
  • ประเภทของนิทานที่มีในไทย
    (1)นิทานก่อนมีประวัติศาสตร์
    (2)นิทานประเภทชาดกในนิบาตชาดก
    -นิทานที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวอ้างมาจากพุทธวัจนะ มีอยู่ในคำเทศน์ เช่น เทศน์มหาชาติ พระเวสสันดรชาดก
    (3)นิทานประเภทคำกลอน
    (4)นิทานชาดกนอกนิบาตชาดก
    -นิทานที่ไม่ได้มาจากคัมภีร์ในศาสนาพุทธ เป็นนิทานพื้นเมืองของประเทศต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่ได้อ้างมาจากพุทธวัจนะ
    (5)นิทานพื้นเมือง
    -เช่น เกาะหนูเกาะแมว ตายายปลูกถั่วปลูกงา
    (6)นิทานประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ
    (7)นิทานสุภาษิต
    (8)นิทานยอพระเกียรติ
    -เป็นนิทานที่เชิดชูพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไทย หรือผู้นำบางประเทศ
  • การเลือกนิทานสำหรับเล่า
    วรรณกรรมที่เลือกมาเล่าให้เด็กฟังควรเป็น
    (1)นิทานปรัมปรา
    (2)ร้อยกรอง
    (3)สารคดี
    (4)ประวัติบุคคลสำคัญ
    -เด็กสามารถใช้ในการเรียนรู้เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
  • การเตรียมตัวก่อนเล่านิทาน
    การเล่านิทานเป็นศิลปะอันจะฝึกฝนได้ ดังนั้น ผู้เล่าต้องอ่านเรื่องที่เล่าซ้ำจนจำขึ้นใจ บางครั้งอาจใช้หนังสือประกอบในการเล่าได้ ไม่ควรก้มหน้าก้มาในการเล่า โดยไม่สนใจผู้ฟัง อีกทั้งยังต้องมีทักษะในการเล่าเรื่องด้วยคำพูดที่ไพเราะ มีความดึงดูดใจ ใช้ภาษาที่ถูกต้องและเหมาะสมในการเล่าเรื่อง และเลือกนิทานที่มีเนื้อหาชวนให้ติดตาม
  • นิทานที่เหมาะสำหรับการเล่า
    (1)มีความเคลื่อนไหวอยู่ในเรื่อง
    (2)มีเนื้อเรื่องเร้าใจ ชวนให้ติดตามว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป
    (3)มีพรรณนาโวหาร ในการใช้ภาษาที่ถูกต้องให้เด็กฟัง
    (4)มีการใช้คำซ้ำๆ ข้อความซ้ำๆ และคล้องจองกัน
    (5)ตัวละครมีปฏิภาณไหวพริบ
    (6)เนื้อเรื่องมีความรู้สึกสะเทือนใจ
    (7)ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเกินไป
    (8)เรื่องเกี่ยวกับสัตว์เล็กๆ
    (9)นิทานสุภาษิตและนิทานอีสป
    (10)เรื่องขำขัน
    (11)ตำนาน นิทานพื้นเมือง เทพนิยาย เทพปกิรณัม
  • วิธีการเล่านิทาน
    (1)มีการจัดให้เด็กนั่งเตรียมพร้อมสำหรับการฟัง
    (2)มีการสร้างบรรยากาศในการเล่า
    (3)สามารถเล่าได้อย่างมั่นใจ
    (4)การใช้ภาษาสำนวนที่ง่ายๆ
    (5)จิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องเล่า
    (6)ผู้เล่าต้องพยายามสร้างมโนภาพในเรื่องที่จะเล่า
    (7)ควรแสดงท่าทางประกอบตามความสมควรเพื่อให้เกิดความเหมาะสม
    ในการเล่านิทานผู้เล่าควรหลีกเลี่ยงในการก้มหน้าก้มตาเพื่อเล่าเพียงอย่างเดียว โดยไม่สบตากับผู้ฟังเลย ผู้เล่าจึงควรพยายามมองผู้ฟังในขณะที่เล่าให้ทั่วถึง
  • ประโยชน์ที่เด็กได้รับจากการฟังนิทาน
    (1)ทำให้เด็กรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ตนเองชอบ
    (2)รู้จักแก้ปัญหาให้ตนเองได้เมื่อนำตนเข้าไปเปรียบเทียบกับตัวละครในเรื่อง
    (3)ทำให้เด็กมีประสบการณ์กว้างขวาง
    (4)เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความรู้สึก เกิดการหัวเราะและมีจินตนาการร่วมไปกับการเล่านิทาน
    (5)ช่วยให้เด็กได้ตัดสินใจว่าเป็นสิ่งที่สังคมของเขายอมรับ

    วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

    RSS (Really Simple Syndication)

    กระบวนวิชา 009355

    สรุปเรื่อง RSS (Really Simple Syndication)

    ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2554
    __________________________________

    RSS (Really Simple Syndication)


    • บทนำ
      ปัจจุบัน RSS ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นรูปแบบกลางในการบริการข้อมูลทางธุรกิจ และมีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการแบ่งปันข้อมูล เช่น เว็บไซต์ข่าว เว็บบล็อค ซึ่งจะมีการแสดงข้อมูลบนหน้าต่างพรีวิวแยกต่างหาก เพื่อให้ผู้ใช้ไม่สับสน รวมถึงสามารถสืบค้นข้อมูลได้
    • ความหมายของ RSS
      RSS ย่อมาจาก Really Simple Syndication คือ บริการที่อยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต จัดทำข้อมูลข่าวสารให้อยู่ในรูปแบบ XML เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ โดยส่งข่าวหรือข้อมูลใหม่ๆ ให้ถึงเครื่องตลอดเวลาที่มีการ Update ไม่ต้องเสียเวลาเปิดเว็บไซต์เข้ามาค้นหา
    • ข้อดีของ RSS
      RSS ช่วยลดข้อจำกัดในการคัดลอกข้อมูลในเว็บไซต์ โดยเฉพาะในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะที่ผู้สร้างไม่ต้องเสียเวลาทำหน้าเพจแสดงข่าว ซึ่งต้องทำทุกครั้งเมื่อต้องการเพิ่มข่าว โดย RSS จะดึงข่าวมาอัตโนมัติ ทำให้ข้อมูลในเว็บไซต์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น
    • จุดเด่นของ RSS
      ผู้ใช้จะไม่จำเป็นต้องเข้าไปตามเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อดูว่ามีข้อมูลอัพเดทใหม่หรือไม่ ขณะที่เว็บไซต์แต่ละแห่งอาจมีระยะเวลาความถี่ในการอัพเดทไม่เท่ากัน บางครั้งผู้ใช้ยังอาจหลงลืมจนเข้าไปดูเนื่อหาอัพเดทใหม่บนเว็บไซต์ไม่ครบถ้วน รูปแบบ RSS จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับข่าวสารอัพเดทใหม่ได้ โดยไม่ต้องเข้าไปดูทุกครั้งให้เสียเวลา ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้บริโภคและฝ่ายเจ้าของเว็บไซต์

      • วิธีการบอกรับ RSS ใน iGoogle
        (1)สร้างบัญชีของ Google โดยทำการสมัคร G-mail ก่อน
        (2)ทำการลงชื่อเข้าใช้ G-mail เพื่อทำการลงทะเบียนเข้าใช้บัญชีของ Google
        (3)เมื่อเข้าสู่ G-mail ของเราแล้ว ให้ทำการคลิกที่คำว่า iGoogle ที่มุมขวามือบนสุดของหน้าเว็บ
        (4)จากนั้นมองหาสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย RSS feed บนหน้าเว็บเพจที่เราต้องการนำมาไว้ที่หน้าแรก iGoogle
        (5)เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสารในหน้าเว็บไซต์ที่เราสนใจก็จะปรากฎอยู่ในหน้าแรกของ iGoogle ของเราแสดงขึ้นมาเพื่อให้เราสามารถเข้าไปติดตามข่าวสารเหล่านั้นได้